"นาค”
คำนี้ไม่ใช่ภาษาไทย-ลาว แต่มีรากมาจากภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน แปลว่า เปลือย, แก้ผ้า คำนี้มีแพร่หลายในหมู่ชนชาวชมพูทวีปตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์
คุณ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยเขียนอธิบายเรื่องความหมายชื่อนาคไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมขอชื่อชนชาติ ความว่า
“ชาวอารยันยุคโบราณ สมัยที่ยังไม่เกิดเป็นรัฐประชาชาตินั้น มีการเหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นพวกลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาติก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัม ซึ่งเขียน naga แต่อ่านออกเสียงเป็น นอค (noga) แปลว่าเปลือย, แก้ผ้า, บ้างก็มาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา”
จากตำนานเก่าแก่ต้นกำเนิดของอาณาจักรฟูนันกล่าวว่า
“ใน พุทธศตวรรษที่ ๑๐ นั้น พราหมณ์โกญธัญญะจากอินเดียได้เดินทางมาอาณาจักรแห่งนี้ แล้วได้แต่งงานกับนางนาค ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาค และได้ครองอาณาจักรแห่งนี้”
ตำนานนี้ถูกเล่าต่อมาเป็นนิทานนางนาคกับพระทอง ซึ่งเป็นนิทานบรรพชนคนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ที่มีความสำคัญแพร่หลายมาก
พระทอง เป็นสัญลักษณ์นักเดินทางจากบ้านเมืองที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า ซึ่งอยู่ห่างไกลทางทะเล
ข้อความจารึกกำเนิดรัฐจามปาในเวียดนามเล่าเรื่องธิดานาคชื่อ โสมา แต่งงานกับพราหมณ์ที่เดินทางมาจากบ้านเมืองห่างไกลทางทะเล
ต่อมามีนักพรตจีน บันทึกนิทานกำเนิดรัฐฟูนันในกัมพูชาเป็นภาษาจีน เล่าเรื่องนางนาคชื่อ ลิวเย (หรือนางใบมะพร้าว) แต่งงานกับพราหมณ์ที่มาทางทะเลเช่นกัน
คุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เคยเขียนไว้ใน มติชนสุดสัปดาห์ ลงฉบับประจำวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2558 ความว่า
“ชาวสุวรรณภูมิ ราว 2,500 ปีมาแล้ว นุ่งห่มใบไม้ เช่น ใบมะพร้าว ฯลฯ ถ้าจะมีผ้านุ่งบ้างก็เป็นผืนเล็กๆ แคบๆ เช่น เตี่ยว ใช้ปิดหุ้มรัดอวัยวะเพศเท่านั้น
เมื่อชาวชมพูทวีปเดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับกลุ่มชนชาวสุวรรณภูมิที่ยังล้าหลังทางเทคโนโลยีทอผ้า จึงพบว่าไม่มีผ้าผืนใหญ่ใช้นุ่งและห่มเหมือนชาวชมพูทวีป ก็เรียกชาวสุวรรณภูมิอย่างเหยียดหยามดูถูกด้วยถ้อยคำของตนว่า นาค หมายความว่า คนเปลือย, คนแก้ผ้า”
ดังนั้น "นาค" จึงหมายถึงคนพื้นเมืองที่เปลือยเปล่าเหมือนงู ซึ่งในที่นี้คือชาวสุวรรณภูมิ นั่นเอง
Pantip