เพื่อเป็นกระดานในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องราว จารีต ประเพณี บทกวี ผญา และอื่นๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นเอกลักษณ์ ของชนเชื้อชาติพันธุ์ลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดแม่น้ำโขง ที่หล่อเลี้ยงกลุ่มชาติพันธุ์ที่น้ำโขงไหลผ่านยาวเกือบ 4,900 กิโลเมตร
วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ฉิกกะแจ ผ้าขิดชาวกูย
"ฉิกกะแจ" หรือ ผ้าขิด ของชาวกูย ขิดกูยเป็นขิดอีกชนิดที่งดงามโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ แต่เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไปน้อย ชาวกูย-กวย ในหลายท้องถิ่นมีทักษะฝีมือในการทอผ้าขิด แต่ในบางท้องถิ่นทักษะนี้อาจลืมเลือนหรือเป็นที่นิยมน้อย ขิดกูยในแต่ละท้องถิ่นนั้นอาจมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน แต่จะมีอัตลักษณ์ร่วมคือโครงสร้างลวดลายที่คล้ายคลึงกัน คือนิยมลวดลายประเภทขอและกาบ โดยเฉพาะขอขนาดใหญ่ซึ่งมักพบเห็นได้บ่อยครั้งในขิดกูยลายโบราณ ลายที่พบบ่อยได้แก่ลาย ขอใหญ่ กาบใหญ่ กาบซ้อนขอ ขอซ้อนกาบ ขอเครือ ของ่า ขอนอน ขอก่าย ขอสบไถ ดอกมะเขือ ฟันปลา กะปู ช่อดอกหมาก ลูกหวาย และขิดกาบน้อย เป็นต้น
ขิดกูยลักษณะในภาพนี้ นับเป็นขิดกูยที่มีความงามโดดเด่น สามารถพบได้ในบริเวณ แถบ อ.สำโรงทาบ อ.ศีขรภูมิ อ.ท่าตูม อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ และ อ.ห้วยทับทัน อ.ปรางค์กู่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ขิดกูยลักษณะนี้ใช้การทอด้วยเทคนิคการเก็บลายแบบทิ้งไม้ ไม่ได้ใส่เขาหรือตะกอในการช่วยเก็บลาย ภาษากูยเรียกว่า “ตอจเลีย” จึงทำให้ต้องใช้ทักษะการทอมากเป็นพิเศษ และใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งในการเก็บลาย วันหนึ่งสามารถทอได้ประมาณหนึ่งคืบ ผืนหนึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาหฺ์ ในการทอ ซึ่งนับว่าใช้เวลาทอนานกว่าผ้าขิดทั่วไป
ปัจจุบัน เหลือช่างที่มีทักษะความสามารถ ในการทอขิดกูยลายโบราณ ได้น้อยคน เนื่องจากต้องใช้ทักษะในการทอและความเพียรมากเป็นพิเศษ แต่ยังพบเห็นการทอขิดกูยได้ในหลายหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้การเก็บลายใส่ในเขาหรือตะกอ เพื่อให้สะดวกในการทอ แต่มีขอจำกัดคือไม่สามารถทอได้หลากหลายลวดลาย และลวดลายมีขนาดเล็ก
ขอขอบคุณ ข้อมูลโดย กชกร เวียงคำ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น