วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

วัฒนธรรมหินดาว


วัฒนธรรมหินดาว


ตำนานหรือนิทานดั้งเดิมของลาวกล่าวว่า ผีหลวงฟ้าคึ่น หรือพญาแถนได้มอบหมายให้แถนจำนวนหนึ่งลงมาอยู่สืบสร้างในเมืองลุ่ม หรือที่เรียกว่าเมืองคนนี้เอง อยู่ในเมืองฟ้าหรือเมืองแถนนั้น บรรดาแถนทั้งหลายที่เป็นไพร่พลของพญาแถนนั้นรวมทั้งพญาแถนเองด้วย มีร่างกายเป็นทิพย์ กินอาหารทิพย์ เหาะเหินเดินอากาศไปได้ทุกหนทุกแห่ง มีชีวิตเป็นอมตะและสุขสันต์ชั่วนิรันดร เมื่อลงมาอยู่ในเมืองคนแล้ว ร่างกายที่เป็นทิพย์นั้นก็ได้เปลี่ยนสภาพไป กลายเป็นร่างกายคนธรรมดาซึ่งประกอบด้วยธาตุ 4 ขันธ์ 5 มีรูปธรรม นามธรรม มีเฒ่า มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เมื่อตายไปแล้ว หากได้สร้างคุณงามความดีไว้ในเวลายังมีชีวิตอยู่ก็จะได้กลับคืนไปอยู่ในเมืองแถนอีก ได้ชีวิตที่เป็นทิพย์ เป็นอมตะกลับคืนมา 
.
ด้วยเหตุนี้คนทั้งหลายที่ดำรงชีวิตอยู่ในเมืองลุ่มจึงมีความใฝ่ฝันอยากกลับคืนไปอยู่เมืองแถนอีก แต่ละคนได้พยายามสร้างคุณงามความดี ละเว้นความชั่วทั้งปวง ได้ประกอบพิธีไหว้วอนผีแถนเพื่อให้แถนหลวงฟ้าคึ่นได้รับรู้เห็นการกระทำของพวกตนอยู่ในเมืองลุ่ม ว่าได้สร้างคุณงามความดีไว้มากมาย เมื่อตายไปแล้วขอให้พญาแถนมารับเอาพวกตนกลับคืนไปอยู่ในเมืองแถนอีก 
.
ในกรณีที่เกิดมีภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม มีพายุลมแรงเกิดขึ้น คนลาวโบราณเชื่อว่าเป็นการแสดงอำนาจฤทธิ์เดชของพญาแถน เพื่อเตือนหรือลงโทษมวลมนุษย์ที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม เกิดความโลภมาก เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม ทำ ลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่รักษาถนอมทรัพยากรธรรมชาติที่พญาแถนประทานมาให้ ด้วยเหตุนี้มวลมนุษย์จึงแต่งให้ปู่เยอย่าเยอขึ้นไปเมืองแถนเพื่อขอร้องให้พญาแถนช่วยแก้ไขยุติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น 
.
นิทานพญาแถนกล่าวว่า เดิมนั้นมีเครือเขากาดเชื่อมต่อระหว่างเมืองแถนและเมืองคน เวลาปู่เยอย่าเยอขึ้นไปเมืองแถนก็ได้ไต่เครือเขากาดขึ้นไป เช่นตัวอย่าง ในกาลครั้งหนึ่งเกิดภัยแห้งแล้งหลายปี คนไม่ได้ทำ ไร่ทำ นา ต้องหากินหมากไม้และหัวมันตามป่าดงพงไพรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ พันธุ์ข้าวปลูกที่เก็บรักษาไว้ก็หมดสิ้นไป พวกมนุษย์ทั้งหลายจึงแต่งให้ปู่เยอย่าเยอขึ้นไปขอความช่วยเหลือจากพญาแถน ขอร้องให้พญาแถนแต่งฟ้าแต่งฝนให้ตกลงมาสู่โลกมนุษย์ตามฤดูกาลเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ได้ทำ ไร่ทำ นามีข้าวปลาอาหารไว้กิน ไม่ให้อดอยากอีก โดยการขอร้องของพวกมนุษย์ พญาแถนจึงได้ประทานพันธุ์ข้าวปลูกมาให้ และได้แต่งฟ้าแต่งฝนให้ตกลงมาสู่โลกมนุษย์ตามฤดูกาลทุกๆ ปี 
.
ต่อจากนั้นพวกมนุษย์ทั้งหลายก็ได้เอาพันธุ์ข้าวปลูกแจกจ่ายกัน ได้ทำ ไร่ทำ นามีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ดั่งเดิม แต่เคียงคู่กันนั้นก็มีคนชั่วช้าสามานย์จำนวนหนึ่งมีนิสัยดื้อด้านมักง่าย เมื่อได้พันธุ์ข้าวปลูกมาแล้วก็เอาไปนึ่งกินเอาไปหุงกินจนหมด ไม่ได้เอาไปปลูกไปฝังเหมือนคนอื่น เมื่อกินพันธุ์ข้าวปลูกหมดแล้วก็พากันไปขอความช่วยเหลือจากพญาแถนอีก พญาแถนได้ดุด่าสั่งสอนตำหนิวิจารณ์โทษกรรมที่พวกเขาได้ประพฤติปฏิบัติผ่านมา แล้วได้ประทานพันธุ์ข้าวปลูกให้มาเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมทั้งบอกว่าไม่ให้มารบกวนอีก เมื่อมนุษย์พวกนี้ลงมาจากเมืองแถนแล้ว พญาแถนก็ได้สั่งให้ตัดเครือเขากาดทิ้งเสีย แต่นั้นมาก็ไม่มีเครือเขากาดเชื่อมต่อระหว่างเมืองคนและเมืองแถนอีก พวกคนทั้งหลายไม่สามารถขึ้นไปเมืองแถนได้อีก 
.
เมื่อพวกคนต้องการขอความช่วยเหลือจากแถน จึงได้ทำการประกอบพิธีไหว้วอนอยู่เมืองลุ่ม และเชื่อว่าพญาแถนสามารถได้ยิน ได้เห็นการไหว้วอนของพวกตน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีรีตคองประเพณีการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการไหว้วอนแถนของคนลาวในท้องถิ่นต่างๆ ในรูปลักษณะต่างๆ บางอย่างก็เหมือนกัน บางอย่างก็แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการไหว้แถนเพื่ออ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพญาแถนให้มาช่วยเหลือพวกตนตามจุดประสงค์ของผู้ประกอบพิธีไหว้วอนนั้น เช่น การลำ เซิ้งผีฟ้าเพื่อรักษาคนเจ็บ การจุดบั้งไฟบูชาแถน การตีฆ้องบั้งเพื่อขอฝน เป็นต้น
.
หินดาวเป็นสิ่งประดิษฐ์สร้างที่ทำจากหินประดิษฐ์สร้างเป็นรูปดาว แหล่งที่พบเห็นมากกว่าที่อื่นคือที่แขวงหลวงพระบาง เขตภูข้าวลีบ ภูสามสุม ภูปากเกอ (ค่ายทหารฝรั่งเก่า) บรรดาภูดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาเลยทางทิศตะวันตก
.
หินดาวสอดคล้องกับนิทานพญาแถนที่เล่าสืบต่อกันมายาวนาน ว่ามีเมืองแถนอยู่สรวงสวรรค์ คนลาวโบราณจึงทำรูปดาวใหญ่ เป็นเครื่องหมายของเมืองแถน เอาไว้ใจกลางของก้อนหิน ลำดับถัดมาคือรูปเครือไม้ ซึ่งหมายถึงเครือเขากาด เป็นเครือไม้ศักดิ์สิทธิ์เชื่อมต่อระหว่างเมืองแถนและเมืองคน อยู่ล่างสุดคือรูปภูเขาหลายลูก ซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยม เอายอดแหลมด้านหนึ่งตั้งขึ้นบนตั้งเรียงกันเป็นแถวยาวล้อมดาวใหญ่ ซึ่งหมายถึงโลกเมืองคน ที่คนโบราณอาศัยอยู่ตามภูผาป่าดง โดยเฉพาะเขตเทือกเขาเลีย ภูสามสุม ภูข้าวลีบ เต็มแน่นไปด้วยภูเขานับเป็นร้อยๆ ลูก ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงทำ เป็นรูปภูเขาจำนวนมากตั้งเรียงกันอยู่ พวกชาวต่างประเทศมาเห็นแล้วบอกว่านี่คือรูปฟันเลื่อย ตามความเป็นจริงแล้วก็ไม่ใช่รูปฟันเลื่อยเหมือนดังที่พวกเขาคิด เพราะว่าในสมัยนั้น (ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว) คนเรายังไม่สามารถผลิตเลื่อยมาใช้
.
หินก้อนนี้พิจารณาดูแล้วทำจากดินเหนียว วางไว้ตามภูเขาตากแดดตากฝนผ่านมาประมาณ 3,000 ปี จึงแข็งตัวกลายเป็นหิน แต่ยังไม่มีความแข็งทนทานเพียงพอ จึงมีรอยแตกดังในรูปที่พิมพ์ไว้อิงตามนิทานพญาแถนที่กล่าวมาโดยย่อนั้น แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของชนชาติลาวเป็นชนชาติเก่าแก่ มีลัทธิความเชื่อถือดั้งเดิมของตนเกี่ยวกับเมืองแถน, เมืองคน 
.
ซึ่งเป็นผลมาจากวิวัฒนาการทางด้านจินตนาการความนึกคิดอันเกิดมาจากประสบการณ์จากธรรมชาติที่อยู่แวดล้อมตน จากจินตนาการได้วิวัฒน์ไปสู่ลัทธิความเชื่อถือ และกลายเป็นรีตคองประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน จนกลายเป็นวัฒนธรรม (Culture) และอารยธรรม (Civilization) ของชนชาติลาวในปัจจุบัน 
.
มีหลักฐานหลายอย่างที่เป็นร่องรอยของความเชื่อถือแถนของบรรพบุรุษชนชาติลาว ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม หินประดิษฐ์สร้างที่สลักเป็นรูปดาวและรูปสัตว์ต่างๆ ที่ได้พบเห็นอยู่มากมายตามเทือกภูข้าวลีบ เทือกภูสามสุม เทือกภูปากเกอ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกภูเลยนั้น เป็นร่องรอยของคนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรมอารยธรรมมามาก สมควรเห็นว่ากลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามเทือกภูเหล่านี้เป็นกลุ่มชนเผ่าพันธุ์เดียวกับกลุ่มชนที่อาศัยอยู่เทือกภูเลย ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่เขตนี้มายาวนานถึง 4 หมื่นปีแล้ว และกลุ่มชนเหล่านี้เป็นบรรพบุรุษของชนชาติลาว
.
หนังสือประวัติศาสตร์ลาว ที่จัดพิมพ์โดยกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ปี ค.ศ 2000 ได้กล่าวไว้ดังนี้ “เทือกภูเลยเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำคาน แม่น้ำแชง ในแขวงหลวงพระบางและต้นกำเนิดของแม่น้ำแอด ในแขวงหัวพัน แม่น้ำแอดนี้ไหลจากภูเลยลงสู่น้ำม่า เหนือเมืองเชียงค้อ แขวงหัวพัน เทือกภูเลยนี้เป็นแหล่งที่คนลาวในสมัยดึกดำบรรพ์อาศัยอยู่มาแล้วถึง 40,000 ปี” (ประวัติศาสตร์ลาว “ดึกดำบรรพ์ปัจจุบัน” จัดพิมพ์โดย กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม, 2000 : 11-12.)
.
จากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมานี้เป็นการยืนยันให้เห็นโบราณวัตถุหินดาวรูปลักษณะต่างๆ ตามเทือกภูข้าวลีบ เทือกภูสามสุม เทือกภูปากเกอนั้น เป็นร่องรอยของคนลาวโบราณที่ได้ประดิษฐ์สร้างไว้ และสอดคล้องกับนิทานพญาแถนที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากหินดาวดังได้กล่าวมานี้ยังมีหลักฐานอื่นๆ อีกที่มีต้นเค้าวัฒนธรรมเดียวกันและร่วมสมัยเดียวกัน ดังจะกล่าวต่อไป ....
.
.
(คัดจาก ນຶທານພະຍາແຖນ - ມະຫາບຸນມີ ເທບສີເມືອງ)

ฉิกกะแจ ผ้าขิดชาวกูย






"ฉิกกะแจ" หรือ ผ้าขิด ของชาวกูย ขิดกูยเป็นขิดอีกชนิดที่งดงามโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ แต่เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไปน้อย ชาวกูย-กวย ในหลายท้องถิ่นมีทักษะฝีมือในการทอผ้าขิด แต่ในบางท้องถิ่นทักษะนี้อาจลืมเลือนหรือเป็นที่นิยมน้อย ขิดกูยในแต่ละท้องถิ่นนั้นอาจมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน แต่จะมีอัตลักษณ์ร่วมคือโครงสร้างลวดลายที่คล้ายคลึงกัน คือนิยมลวดลายประเภทขอและกาบ โดยเฉพาะขอขนาดใหญ่ซึ่งมักพบเห็นได้บ่อยครั้งในขิดกูยลายโบราณ ลายที่พบบ่อยได้แก่ลาย ขอใหญ่ กาบใหญ่ กาบซ้อนขอ ขอซ้อนกาบ ขอเครือ ของ่า ขอนอน ขอก่าย ขอสบไถ ดอกมะเขือ ฟันปลา กะปู ช่อดอกหมาก ลูกหวาย และขิดกาบน้อย เป็นต้น

ขิดกูยลักษณะในภาพนี้ นับเป็นขิดกูยที่มีความงามโดดเด่น สามารถพบได้ในบริเวณ แถบ อ.สำโรงทาบ อ.ศีขรภูมิ อ.ท่าตูม อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ และ อ.ห้วยทับทัน อ.ปรางค์กู่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ขิดกูยลักษณะนี้ใช้การทอด้วยเทคนิคการเก็บลายแบบทิ้งไม้ ไม่ได้ใส่เขาหรือตะกอในการช่วยเก็บลาย ภาษากูยเรียกว่า “ตอจเลีย” จึงทำให้ต้องใช้ทักษะการทอมากเป็นพิเศษ และใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งในการเก็บลาย วันหนึ่งสามารถทอได้ประมาณหนึ่งคืบ ผืนหนึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาหฺ์ ในการทอ ซึ่งนับว่าใช้เวลาทอนานกว่าผ้าขิดทั่วไป 

ปัจจุบัน เหลือช่างที่มีทักษะความสามารถ ในการทอขิดกูยลายโบราณ ได้น้อยคน เนื่องจากต้องใช้ทักษะในการทอและความเพียรมากเป็นพิเศษ แต่ยังพบเห็นการทอขิดกูยได้ในหลายหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้การเก็บลายใส่ในเขาหรือตะกอ เพื่อให้สะดวกในการทอ แต่มีขอจำกัดคือไม่สามารถทอได้หลากหลายลวดลาย และลวดลายมีขนาดเล็ก


ขอขอบคุณ ข้อมูลโดย กชกร  เวียงคำ