วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563

วันบ้านแปดอุ้มแตก (อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี)


วันบ้านแปดอุ้มแตก



เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้าน
          ปี พ.ศ.2495  คอมมิวนิสต์เข้ามาก่อความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน มีการปล้น ระเบิดเส้นทางคมนาคม  ตำรวจตระเวนชายแดนเข้ามาดูแลในพื้นที่และมีการจัดตั้งพวกชาวบ้านเป็นอาสาสมัคร( อส.)  เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ [1]
          
          เมื่อปี  2512  ได้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และกองกำลังต่างชาติเข้ามาแทรกซึมในพื้นที่ตำบลโดมประดิษฐ์ ด้วยการแสวงหาพรรคพวกซ่องสุมกำลังพลและอาวุธ ปลุกระดมชวนเชื่อ ดักซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกรูปแบบ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก ตกอยู่ในภาวะจำยอม ทำให้ราชการปรับนโยบายการต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี นายวิเชียร สีมันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินการก่อตั้ง กิ่งอำเภอน้ำยืน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มพลังต่าง ๆ ต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามตลอดมา[2]
ปี พ.ศ.2520 รัฐบาลเข้ามาสนใจจริงจัง มีหน่วยงานทางราชการที่เข้ามาสำรวจพื้นที่ครั้งแรก คือ หน่วยงานทหารกล้า  และมีการสร้างถนนลาดยาง  ต่อมาบ้านค้อ ได้ประกาศจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้าน ปชด. ปี พ.ศ. 2522 และประกาศจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้าน อพป.  ปี พ.ศ. 2524  และในปีเดียวกันนั่นเองหลังจากสร้างถนนเสร็จก็เกิดสงครามพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา  ประมาณปี   2528-2530   หลังจากสงครามสงบปีประมาณ พ.ศ.2533-2534  เริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้าน
          เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2521 เวลาประมาณ 18 นาฬิกาเศษ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ร่วมกับกองกำลังต่างชาติ (เขมรแดง) ประมาณ 200 คน เข้าโจมตีบ้านแปดอุ้มด้วยอาวุธนานาชนิด ขณะนั้นนายวิชิต  วิจิตรกุล เป็นนายอำเภอน้ำยืน นายวัน ขุมาลี เป็นผู้ใหญ่บ้านแปดอุ้ม เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครรักษาดินแดนได้ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจพลเรือน ตำรวจ ทหาร 213  นาย (พตท.213)  และไทยอาสาป้องกันชาติบ้านแปดอุ้มทำการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งทรัพย์สินและอธิปไตยของหมู่บ้านจนถึงเวลา 09.00 น. ฝ่ายตรงข้ามจึงล่าถอยไป ยังผลให้สูญเสียดังนี้
 - อาสาสมัครรักษาดินแดนเสียชีวิต 1 นาย(อส.เฉลิม วิลานันท์)
 - ไทยอาสาป้องกันชาติเสียชีวิต 1 คน นายบัวทอน บัวบาล)
 - ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษบาดเจ็บ 1 นาย
 - โรงเรียนถูกกระสุนเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจีเสียหาย  1  หลัง
 - ราษฎรถูกกวาดต้อนไป  241  คน
- ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต 35 คน บาดเจ็บ 20 คน
ราษฎรที่ถูกกวาดต้อนไปได้ถูกกักกันไว้ที่บ้านสะเตรียลกวล  เขตอำเภอจอมกระสาน ประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสำนักงานการเกษตรของฝ่ายเขมรแดง (พลพต) ราษฎรดังกล่าวอยู่ที่นี่ประมาณ 1 ปี ได้ทยอยหลบหนีมาบ้าง ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลเฮ็งสัมรินได้ทำการกวาดล้างเขมรแดงกลุ่มนี้ ราษฎรบ้านแปดอุ้มจึงพากันหลบหนีมาได้ ที่เสียชีวิตก็หลายคน
          พุทธศักราช 2522  ทางราชการได้ส่งหน่วยพัฒนาที่ดิน และประชาสงเคราะห์เข้าจัดสรรที่ดิน ซึ่งเป็นที่อยู่และที่ทำกินในราษฎรบ้านแปดอุ้ม พร้อมปลูกสร้างบ้านพักอาศัยให้ครอบครัวละ 1 หลัง ในเนื้อที่ 1 ไร่  จำนวน 95 หลัง และที่ดินครอบครัวละ 25 ไร่ พร้อมสิ่งสาธารณูปโภคครบครัน และโรงเรียนในทำเลใหม่ บริเวณทางหลวง 2248 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 57-58 พิกัด W.A. 190941 ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านเดิมมาทางทิศเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน
          ปีพุทธศักราช 2525 กลุ่มเขมรแดงถูกรัฐบาลเฮงสัมรินกวาดล้างอย่างหนัก ได้อพยพเข้ามาอยู่บริเวณด้านตะวันตกของลำห้วยบอน (บริเวณบ้านแปดอุ้มเก่า) มีเหตุการณ์สู้รบระหว่างเขมรแดงและรัฐบาลเฮงสัมริน โดยการสนับสนุนของเวียดนาม ได้ติดตามกวาดล้างกลุ่มเขมรแดง โดยมาตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในบริเวณเนิน 500 และเนินอื่น ๆ ตามบริเวณชายแดน เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มเขมรแดงเข้าไปปฏิบัติการใด ๆในประเทศสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย จากการสู้รบกันนั้น ทำให้มีกระสุนปืนใหญ่ตกเข้ามาในเขตไทย โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบของบ้านแปดอุ้มบ่อยครั้ง ทำให้ราษฎรทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายคนเสียชีวิต เพราะไปเหยียบกับระเบิดที่ถูกวางไว้ตามเนินเขา และแนวชายแดน
          ปีพุทธศักราช 2528 ทางราชการได้อพยพกลุ่มเขมรแดงออกจากบริเวณตะวันตกของถ้ำบอน (บ้านแปดอุ้มเก่า) ไปอยู่ศูนย์อพยพเขาอีด่าง จังหวัดปราจีนบุรี
          ปีพุทธศักราช 2529 รัฐบาลไทยเริ่มยุทธการผลักดันกองกำลังเขมรเฮงสัมริน ที่ตั้งฐานปฏิบัติอยู่ตามเนินต่าง ๆ ในเทือกเขาพนมดงรักแนวชายแดนไทย เขมร ลาว โดยเฉพาะในเนิน 500 และบริเวณช่องบก เกิดการสู้รบอย่างรุนแรง มีการใช้อาวุธหนักปะทะกันตลอดเวลา กระสุนใหญ่ตกเข้ามาในเขตไทยเป็นระยะ ทางราชการเกรงว่าราษฎรจะได้รับอันตราย จึงได้สร้างหลุมหลบภัยให้กับทุกหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-เขมร และอพยพราษฎรบ้านแปดอุ้ม บ้านโนนสูง บ้านค้อ บ้านจันลา และบ้านแข้ด่อน บางส่วน โดยเฉพาะผู้หญิง เด็กและคนชราไปอยู่ที่บ้านปลาขาว บ้านแก้งโตน และบ้านบุเปือยเป็นการชั่วคราว  การผลักดันกองกำลังต่างชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปลายปีพุทธศักราช 2530 จึงสามารถผลักดันกองกำลังต่างชาติออกจากเนินต่าง ๆ ตามแนวชายแดนได้ [3]
ในปี พ.ศ. 2512  ได้มีการตั้งกิ่งอำเภอน้ำยืนขึ้น 
ในปี พ.ศ.  2513  รพช.ได้ตัดถนนลูกรัง ซึ่งก็คือแนวเส้นทางในปัจจุบัน และเริ่มมีรถวิ่งโดยเฉพาะรถลากซุงไม้  ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่สัญจรไปมาด้วยวัวเทียมเกวียน
สมัยก่อนชาวบ้านต้องเอาข้าวไปสีไกลถึงบ้านบุเปือย  นอกจากนี้เจ้าของโรงสีซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของพ่อบักล้อม ที่บ้านพ่อบักล้อมจะมีโทรทัศน์ขาวดำ เครื่องเดียวในหมู่บ้าน โดยใช้พลังงานแบตเตอรี่ ตอนหัวค่ำชาวบ้านจะพากันมาดูโทรทัศน์กันมาก ละครที่โปรดปรานในสมัยนั้นก็คือ เรื่องสุพรรณหงษ์
ในปี  2516 นายวิเชียร  สีมันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎรเป็นล็อกๆ ละ 20 ไร่ ประมาณ 40 แปลง 
ต่อมาในปี  พ.ศ. 2526 เริ่มมีการสร้างถนนลาดยาง
ในปี พ.ศ. 2528-2530  มีสถานการณ์ตึงเครียดตามแนวชายแดนบริเวณช่องอานม้า มีทหารเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นช่วงแรก ๆ ที่มีการรบกันเสียงปืนใหญ่ดังมากจนหลังคาบ้านสั่นสะเทือน  ชาวบ้านกลัวลูกปืนใหญ่จะมาตกในหมู่บ้าน เห็นหมู่บ้านอื่นทำหลุมหลบภัย  ชาวบ้านนาสามัคคีก็พากันทำหลุมหลบภัยไว้หลังบ้านเป็นจำนวนมาก  แต่เมื่อมีการรบกันบ่อย ๆ ชาวบ้านก็เกิดเคยชิน บางคนเลยมองเป็นเรื่องสนุก วันไหนไม่ได้ยินเสียงปืนมักนอนไม่ค่อยหลับ และในปี พ.ศ. 2530 ชาวบ้านเปลี่ยนจากตะเกียงน้ำมันก๊าดมาใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอได้รณรงค์ทำส้วมในหมู่บ้านแทนการไปถ่ายทุกข์ในป่าละเมาะท้ายหมู่บ้าน และเป็นช่วงที่รณรงค์ให้ชาวบ้านมีลูกแค่ 2  คน แทนความเชื่อที่มีลูกมากยิ่งดี เพราะช่วยเป็นแรงงานในการทำนาในครอบครัว เพราะสมัยก่อนผู้ที่จบ ป.6 แล้วไม่ได้เรียนต่อก็มักจะช่วยพ่อแม่เลี้ยงวัว- เลี้ยงควาย ทำนาทำไร่ บางคนก็ไปทำงานที่กรุงเทพ บางคนเรียนจบมาปี 2-3 ปี พ่อแม่ก็หาคู่ครองให้ ในสมัยนั้นบ้านนาสามัคคีมีคนเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาปีละคนสองคนเท่านั้น
          ในปีพ.ศ. 2533 เริ่มมีผู้นำรถไถนาเดินตามมาใช้ในหมู่บ้าน พอชาวบ้านคนอื่น ๆ เห็นว่าไถนาได้เร็วกว่าควายมาก ประหยัดเวลาและแรงงานมาก ก็เกิดความนิยมซื้อรถไถนากันมาก  ต่างก็พากันไปกู้ ธกส.มาซื้อกัน บางรายก็เริ่มขายวัว ควาย เพราะไม่มีเวลาเลี้ยง  ปริมาณวัว ควายก็เริ่มลดลง[4]



[1] ตัดตอนจากประวัติบ้านค้อ หมู่ ๗ ตำบลโดมประดิษฐ์
 [2] ตัดตอนจากประวัติบ้านแปดอุ้ม หมู่ ๒ ตำบลโดมประดิษฐ์
[3] ตัดตอนจากประวัติบ้านค้อ หมู่ ๗ ตำบลโดมประดิษฐ์
[4] ตัดตอนจากประวัติบ้านนาสามัคคี หมู่ ๕ ตำบลสีวิเชียร