วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี




มกราคม ๒๕๕๙ จ่าสิบเอกเกริกชัย ผ่องแผ้ว นายอำเภอน้ำยืนได้ปรึกษาหารือในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำเดือน ว่า ขณะนี้อำเภอน้ำยืน ยังไม่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาจะประกอบพิธีวางพวงมานลาถวายบังคมในวันที่ ๒๓ ตุลาคมของทุกปี ต้องอัญเชิญพระบรมรูปหรือพระบรมฉายาลักษณ์ มาประดิษฐานเพื่อประกอบพิธี ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบร่วมกัน
          วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ อำเภอเชิญหัวหน้าส่วนราชการประชุมเพื่อหารือในรายละเอียดการก่อสร้าง และได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อรับผิดชอบดำเนินการโดยได้กำหนดแนวทางร่วมกันไว้เป็น ๓ ระยะ คือ
          ระยะที่ ๑ ระดมทุนจากทุกภาคส่วน และทำการก่อสร้างฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พร้อมจัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
          ระยะที่ ๒ อัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ หลังจากการดำเนินการตามระยะที่ ๑ เสร็จสิ้นแล้ว
          ระยะที่ ๓ ปรับพื้นที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ และบริเวณด้านหน้า จัดทำเป็นลานคอนกรีตให้มีพื้นที่ในการประกอบพิธีในวันที่ ๒๓ ตุลาคม และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะมากราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ในโอกาสต่อไป

 (นายสุรัตน์ อวยพรส่ง ปลัดอำเภอน้ำยืน (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) รักษาราชการแทนนายอำเภอน้ำยืน ประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์)


 จากการดำเนินงานระยะที่ ๑ สามารถระดมทุนทรัพย์ได้เบื้องต้น โดยได้จากการบริจาคของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) จากภาคเอกชนจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท (หกหมื่นบาทถ้วน) ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนชนทุกหมู่บ้าน จำนวน ๑๓๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน)  และจากกองทุนวันปิยมหาราชอำเภอน้ำยืน จำนวน ๑๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๓๐,๐๐๐ บาท (สามแสนสามหมื่นบาทถ้วน)
          คณะกรรมการส่วนที่รับผิดชอบในการก่อสร้าง ได้เริ่มทำการก่อสร้างฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ และปรับพื้นที่บริเวณโดยรอบ อำเภอน้ำยืน ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันอังคารที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์
          พิธีสงฆ์ ได้นิมนต์พระครูวิชัยธรรมานันท์ เจ้าคณะอำเภอน้ำยืน (ธ)พระครูศรีธรรมโสภิต เจ้าคณะอำเภอน้ำยืน (มหานิกาย) พร้อมพระสงฆ์สมณศักดิ์ รวม ๙ รูป โดยมีนายอ่อนจันทร์ เสนาพันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอน้ำยืน นำประกอบพิธีสงฆ์
          พิธีพราหมณ์ ได้เชิญ พราหมณ์สมนึก เขียวอ่อน และผู้ช่วยพราหมณ์ นำประกอบพิธีพราหมณ์
          นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประธานในพิธี จ่าสิบเอกเกริกชัย ผ่องแผ้ว นายอำเภอน้ำยืน กล่าวรายงาน นายชมเชย ทองชุม ทำหน้าที่เป็นพิธีกร
          ผู้มีเกียรติที่ร่วมในพิธีประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา ตำรวจ ทหาร ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน รวม ๓๐๐ คน


(พิธีอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย พราหมณ์สมนึก เขียวอ่อน)

จนบัดนี้ ฝ่ายก่อสร้างฐานพระบรมราชานุสาวรีย์  แจ้งว่าได้ก่อสร้างและปรับปรุงบริเวณโดยรอบมั่นคงแข็งแรงเหมาะสมแล้ว ส่วนที่ยังไม่เรียบร้อยก็จะดำเนินการควบคู่กันไป ประกอบกับผู้รับจ้างหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งมอบงานแล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลและเหมาะสมตามกาลเวลา อำเภอน้ำยืน จึงได้กำหนดเอาวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๘.๐๐ น. – ๑๑.๐๐ น. ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนฐานพระบรมราชานุสาวรีย์  เป็นเบื้องต้นก่อน    

วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙  เวลา ๐๙.๐๐ น. นายสุรัตน์ อวยพรส่ง ปลัดอำเภอน้ำยืน (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) รักษาราชการแทนนายอำเภอน้ำยืน ประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์  และจะพิจารณาประกอบพิธีเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์ อย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป


 พิธีบวงสรวง 



วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อีสาน หรือ อีศาน หรือ อีศาณปุระ หรือ E-san (แต่ไม่ปรากฎคำว่า อิสาน)


ภาคอีสาน
          ภาคอีสานคล้ายแอ่งกระทะ มีเทือกเขาภูพานพาดตรงกลางแอ่ง ทำให้แบ่งเป็น ๒ ส่วนตามธรรมชาติ คือ แอ่งสกลนคร เรียกอีสานเหนือ กับ แอ่งโคราช เรียก อีสานใต้
          อีสานเหนือ ถือเป็นเขตวัฒนธรรมบ้านเชียง อยู่ตอนเหนือของภูพาน ถึงแม่น้ำโขง เริ่มจากจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร
          อีสานใต้ ถือเป็นเขตวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ อยู่ตอนใต้ของภูพาน แยกย่อยเป็น ๒ เขต ได้แก่ ลุ่มน้ำมูล กับ ลุ่มน้ำชี
          ลุ่มน้ำมูล เป็นวัฒนธรรมพราหมณ์ – มหายาน ตั้งแต่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
          ลุ่มน้ำชี เป็นวัฒนธรรมพุทธเถรวาท ตั้งแต่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ


อีสาน ฝั่งขวาแม่น้ำโขง
          คนอีสาน บางคนเรียก ชาวอีสาน มีหลักแหล่งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย     อีสาน เป็น ชื่อเรียกพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง
          คำว่า อีสาน มีรากจากภาษาสันสกฤต สะกดว่า อีศาน หมายถึง นามพระศิวะ ผู้เป็นเทพดาประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (เคยใช้มาแล้วเมื่อราวหลัง พ.ศ.๑๐๐๐ ในชื่อรัฐว่า อีศานปุระ และชื่อพระราชาว่า อีศานวรมัน) แต่คำบาลีเขียน อีสาน ฝ่ายไทยยืมรูปคำมาจากบาลีมาใช้ หมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
          ตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่หมายตรงกับคำว่า อีสาน” เริ่มใช้เป็นทางการสมัยรัชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ. ๒๔๔๒ ในชื่อ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังหมายถึงเฉพาะลุ่มน้ำมูลถึงอุบลราชธานี จำปาสัก ฯลฯ
          รวมความแล้ว ใครก็ตามที่มีถิ่นกำเนิดหรือมีหลักแหล่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (จะโดยเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่เมื่อไรก็ตาม) ถ้าถือตัวว่าเป็นคนอีสาน หรือ ชาวอีสาน อย่างเต็มอกเต็มใจและอย่างองอาจ ก็ถือเป็นคนอีสานชาวอีสานทั้งนั้น
          ฉะนั้น คนอีสานหรือชาวอีสานจึงไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติเฉพาะ แต่เป็นชื่อสมมุติเรียกคนหลายหลากมากมายในดินแดนอีสาน และเป็นชื่อเรียกอย่างกว้างๆ รวมๆ ตั้งแต่อดีตดึกดำบรรพ์สืบจนปัจจุบัน


โขง – ชี – มูล

ดินแดนอีสานเป็น เขตแห้งแล้ง (dry area) ลักษณะที่ราบสูง (plateau) มีขอบยก สูงคล้ายสี่เหลี่ยมแล้วลาดลงตรงกลางเป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะบริเวณที่เรียกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ มีแม่น้ำสำคัญ 3 สายพาดผ่าน คือ โขงชี มูล และมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ๒ แห่งคือ หนองหานหลวงจังหวัดสกลนคร และหนองหานน้อย จังหวัดอุดรธานี

เหตุที่ชื่อว่า น้ำยืน = น้ำ(ยั่ง)ยืน

ที่มาของชื่ออำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี 
อำเภอน้ำยืนได้ชื่อว่า "น้ำยืน" น่าจะมาจากสาเหตุ 2 ประการด้วยกันคือ
1. ตั้งตามชื่อหมู่บ้าน "น้ำยืน" ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ว่าการอำเภอ ซึ่งห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร

2. ตั้งตามลักษณะที่เป็นจริงของธรรมชาติ โดยที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ระหว่างลำห้วย 3 สาย ไหลมาบรรจบกันคือ ลำห้วยบอน ลำห้วยโซง และลำห้วยตาเอ็ม ซึ่งมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการทำมาหากินอย่างยิ่ง



"น้ำยืน" = ลักษณะของความอิ่มเอิบ ซึมซาบ ที่จะยังคงมีอยู่อย่างยั่งยืน
(ที่มา : นามานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี)

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ความเชื่อเรื่องหินตั้ง (Megalith) กับ ประเพณีฝังศพ ครั้งที่ ๒


จากการวิเคราะห์ความเชื่อเรื่องหินตั้ง (Megalith) ในลักษณะความเชื่อทางศาสนาและพิธีศพและความเชื่อในอมตภาพของวิญญาณ กรรม และ การเกิดใหม่  เขียนโดย ดร.จรัส พยัคฆราชศักดิ์  สามารถสรุปเป็นที่มาของประเพณีการฝังศพครั้งที่ ๒ ได้ว่า มนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์มีความเชื่องเรื่องวิญญาณ ภูตผี ปีศาจต่างๆ เชื่อกันว่าพลังชีวิต หรือวิญญาณมีอยู่ในหลักศิลา หรือก้อนหิน เทวดา แม่โพสพสิงอยู่ตามพื้นดิน ต้นไม้ และอยู่ในพืชผลที่เขาปลูก  และความเชื่อในอมตภาพหรือความไม่แตกดับของวิญญาณ หรืออาตมันหรือชีวาตมัน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดของสิ่งที่มีชีวิต ชีวาตมันจะสิงสถิตอยู่ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทุกชนิด เป็นสิ่งที่เที่ยง ไม่แตกดับ อยู่คงกระพัน ไม่มีสิ่งใดสามารถทำอันตรายแก่ชีวาตมันได้ เมื่อคนหรือสัตว์ตาย ร่างกายเท่านั้นที่แตกดับเสื่อมสลายไป ส่วนชีวาตมันจะไม่แตกดับไปด้วย มันจะออกจากร่างกายเก่าไปอาศัยอยู่ในร่างใหม่ ...ใกล้ๆกับร่างมนุษย์ที่ได้พบนั้น ไม่เคยพบร่างเปล่า ยังพบเครื่องใช้ เช่น อาวุธ หรือเครื่องมือ เครื่องภาชนะหลายอย่าง...เป็นเครื่องบอกให้รู้อย่างดีว่า ร่างกระดูกที่พบนั้น เป็นสมัยหินหยาบ หรือสมัยหินขัด...ทำให้เข้าใจได้ว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์ก่อนประวัติศาสตร์ ก็มีความคิดในเรื่องเวียนว่ายตายเกิด มีความเชื่อในเรื่องตายแล้ว เกิดใหม่ เหมือนดวงอาทิตย์ที่ดับลงไปในเวลาค่ำ แล้วก็ขึ้นใหม่ในเวลาเช้า ...
...ด้วยเหตุนี้เองจึงได้ฝังหรือเก็บศพให้นอนตะแคงข้าง หันหน้าไปทางตะวันตกโดยถือว่าคนตายก็เหมือนอาทิตย์ตก ให้เขามองตามดวงอาทิตย์ที่ตกนั้น แล้วก็ไปเกิดใหม่อย่างเดียวกับพระอาทิตย์ขึ้น(ดร.จรัส  พยัคฆราชศักดิ์,๒๕๓๔,๑๕๓)...และเพื่อป้องกันมิให้ศพนั้นลุกขึ้นมาทำอะไรใครได้ จึงต้องเอาหินมากองทับ แล้วยังมัดแข้งมัดขาเพื่อไม่ให้กลับลุกขึ้นได้ ซึ่งแนวคิดอย่างนี้ ก็ตรงกับลัทธิในทางอื่นๆ ซึ่งได้แผ่เข้ามาจนกระทั่งถึงไทยเราจนทุกวันนี้ เช่น เรื่องตราสังมัดศพ...

นอกจากนั้นเพื่อไม่ให้ศพต้องกังวลออกไปหาเที่ยวอาหาร จึงได้ทำหินให้เป็นรูปเหมือนภาชนะที่ใส่อาหารเอาไปเซ่นศพ การเซ่นสรวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ได้เกิดขึ้นด้วยวิธีนี้ ...ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในประเทศไทย ก็คือ หินตั้งเป็นวงกลมที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ทุ่งไหหิน และทั่วไปในดินแดนประเทศลาว ยอดผาที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่เป็นเค้าว่าเป็นหินตั้งหรือคอกหินในสมัยก่อนประวัติศาสตร์...

 หินตั้ง ณ วัดป่าคีรีบรรพต (ภูน้อย ) อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

เนินหิน/หน้าผา แหล่งวัฒนธรรมหินตั้ง ของ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 

 หินตั้ง ณ วัดป่าคีรีบรรพต (ภูน้อย ) อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ๒๓๐๐ - ๑๘๐๐ ปี ประเพณีฝังศพครั้งที่ ๒
บ้านสวายน้อย ตำบลยางใหญ่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://ourmaekong.blogspot.com/2016/10/blog-post_13.html

จากภูมิปัญญาชุมชน สู่ ชุมชนพอเพียงบ้านหนองคู

กระติบข้าวจากต้นไหล และ ผลิตภัณฑ์จากต้นไหล


หัตถกรรมเครื่องจักสานเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต
ตั้งแต่อดีตตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน หัตถกรรมเครื่องจักสานเป็น
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาอันเฉลียวฉลาดของคนในท้องถิ่น ที่ใช้ภูมิปัญญาสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาประยุกต์ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีประโยชน์ในการดำรงชีวิต 
จะเห็นได้ว่าหัตถกรรมเครื่องจักสานมีมานานแล้วและได้มีการพัฒนามาตลอดเวลาโดยอาศัยการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง การดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เอาการรู้หนังสือมาเกี่ยวข้อง การเรียนรู้ต่างๆ อาศัยวิธีการฝึกหัดและบอกเล่าซึ่งไม่เป็นระบบในการบันทึก สะท้อนให้เห็นการเรียนรู้ ความรู้ที่สะสมที่สืบทอดกันมาจากอดีตมาถึงปัจจุบันหรือที่เรียกกันว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นกระบวนถ่ายทอดความรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทำภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นคงอยู่ต่อเนื่องและยั่งยืน
   

เนื่องจากบ้านหนองคู หมู่ ๔ ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีลำห้วยซอม และ ห้วยกอก ประกอบกับใกล้กับหนองคู เมื่อถึงฤดูฝน มีน้ำหลาก น้ำท่วมที่นาของชาวบ้านทำให้ข้าวในทุ่งนาเฉาและตายในที่สุด จึงเป็นผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านหนองคู อนึ่ง วัชพืช  พืชพันธุ์ที่เกิดตามธรรมชาติส่วนมากเป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  เช่น ต้นกก ต้นไหล ต้นผือ ต้นเตย และประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำให้การทำไร่ ทำนา ทำสวน มีปัญหาด้วยเรื่องวัชพืชอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบให้ผลิตผลทางการเกษตรไม่ได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น

          จากปัญหาด้านวัชพืช ดังกล่าว สมาชิกชุมชนจึงได้มีการประชุมหารือเพื่อหาทางแก้ไข และจากคำกล่าวขานและบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของหมู่บ้านได้พบว่า ต้นกก ต้นไหล ต้นผือ ต้นเตย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายตามแต่โบราณกาล เช่น นำมาถักทอเป็นเสื่อ เป็นต้น
          ดังนั้น กลุ่มแม่บ้าน บ้านหนองคู จึงอาศัยเวลาว่างจากงานประจำ ได้มาเรียนรู้การทำเสื่อลายหมากฮอตจากผู้เฒ่าผู้แก่ จนสามารถทอเสื่อได้ตามแบบแผนตั้งแต่ครั้นโบราณกาลได้อย่างประณีต เพื่อใช้ในครัวเรือนของตน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเสื่อน้ำมัน หรือเสื่อจากองค์กรชุมชนอื่นๆ ได้

ในปี ๒๕๔๔ จึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งกลุ่มเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้สามารถใช้ในครัวเรือนได้อย่างหลากหลาย หากมากพอก็สามารถจำหน่ายได้ในระดับท้องถิ่น จากนั้นได้ลองเอาต้นไหลมาแปรรูปผลิตภัณฑ์เดิมจากการทอเสื่อมาทำเป็นกระติบข้าว ปรากฏว่า กระติบข้าวจากต้นไหล สามารถเก็บข้าวเหนียวได้ดี ข้าวเหนียวไม่ติดกระติบข้าวเหมือนดั่งเช่น กระติบข้าวที่ทำมาจากไม้ไผ่

ในปี ๒๕๔๗ กศน.อำเภอน้ำยืน โดยมี นายเต็ม เจตินัย เป็นผู้บริหารในสมัยนั้น ได้มอบให้ นายกณวรรธน์ สุทธัง ครู กศน.อำเภอน้ำยืน นำสมาชิกแม่บ้านจักสานบ้านหนองคู หมู่ ๔ ตำบลยาง โดยมีนางเวิน บุตรแสง ประธานกลุ่มฯ และ สมาชิกกลุ่มจักสานบ้านสงวนรัตน์ หมู่ ๖ ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนางสาวอุไลวัน พันธ์วงศ์ ประธานกลุ่มฯ  ไปศึกษาดูงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัสดุ ที่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นกระติบข้าว หมวก ที่รองแก้ว กล่องกระดาษทิชชู กระเป๋าถือ และอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในครอบครัวและเพื่อจำหน่ายแก่สมาชิกและผู้สนใจทั่วไปในเขตอำเภอน้ำยืน และผู้สนใจในจังหวัดอื่น ๆ

จากผลการดำเนินดำเนินงานของกลุ่มฯ เป็นผลทำให้ กลุ่มจักสานบ้านหนองคู หมู่ ๔ ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี  ได้ผ่านการคัดสรรผลิตภัณฑ์ จากโครงการ คัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย  (OTOP Product Champion) ดังนี้
๑.      ปี ๒๕๔๗ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับ ๓ ดาว ประเภท ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก กระติ๊บข้าว
๒.      ปี ๒๕๕๓ ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับ ๓ ดาว ประเภท ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก กระติ๊บข้าวจากต้นไหล
๓.      ปี ๒๕๕๔ นางเวิน บุตรแสง ประธานกลุ่มฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภท ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก (ตะกร้าเอนกประสงค์) โครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จาก ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายสุรพล  สายพันธ์)

๔.      ปี ๒๕๕๕ ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับ ๓ ดาว ประเภท ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก กระติ๊บข้าวจากต้นไหล และ ผลิตภัณฑ์จากต้นไหล
๕.     บ้านหนองคู ได้ผ่านการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับ อยู่ดี กินดี
๖.      นางเวิน บุตรแสง ได้รับคัดเลือกให้เป็น คุณแม่ดีเด่นระดับตำบล ของตำบลยาง อำเภอน้ำยืน
๗.      นางเวิน บุตรแสง ได้รับคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขพื้นฐาน (อสม.) และ ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ อสม.ดีเด่น
๘. นายประเสริฐ  บุตรแสง (สามี) ได้รับคัดเลือกให้เป็น ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองคู

 
เกียรติบัตร ชุมชน




เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ นางเวิน บุตรแสง 






นายประเสริฐ บุตรแสง 



"อ่านให้จำ ทำให้ดู"
แนวคิดในการปฏิบัติตนในวิถีชีวิตเพื่อการพัฒนาชุมชน

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ความหมาย ที่มาของรูปแบบ คติการสร้าง และความสำคัญของปราสาทขอม


คำว่า ปราสาท (Prasada) มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต หมายถึง อาคารที่มีส่วนกลางเป็นห้องเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ หรือ เรือนธาตุ  และมีหลังคาเป็นชั้นซ้อนกันหลายชั้นเรียกว่า เรือนชั้น หลังคาแต่ละชั้นนั้น เป็นการย่อส่วนของปราสาท โดยนำมาซ้อนกันในรูปของสัญลักษณ์ แทนความหมายของเรือนฐานันดรสูง อันเป็นที่สถิตของเหล่าเทพเทวดา ดังนั้น ปราสาทจึงหมายถึง อาคารที่เป็นศาสนสถาน เพื่อประดิษฐานรูปเคารพ และการทำพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ใช่พระราชมณเฑียร อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีความแตกต่างในเรื่องของวัสดุ กล่าวคือ ปราสาทที่เป็นศาสนสถานนั้น สร้างด้วยวัสดุ ที่มั่นคงแข็งแรงประเภทอิฐหรือหิน ส่วนพระราชมณเฑียร ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สร้างด้วยไม้ทั้งสิ้น


ปราสาทขอม หมายถึง อาคารทรงปราสาทที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมขอม หรือเขมรโบราณ เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งในศาสนาฮินดู และพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ส่วนคำว่า ปราสาทขอมในประเทศไทย นั้น หมายถึง อาคารทรงปราสาทในวัฒนธรรมขอม ที่พบในดินแดนไทยในปัจจุบัน ซึ่งดินแดนเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม รวมทั้งบางส่วนได้มีการรับอิทธิพลทางศาสนา และงานศิลปกรรมขอมมาสร้าง โดยคนในท้องถิ่น แต่เดิมมักเรียกงานศิลปะของวัฒนธรรมขอมในประเทศไทยว่า ศิลปะลพบุรี เนื่องจากเชื่อว่า เมืองลพบุรี เคยเป็นเมืองศูนย์กลางของขอมในประเทศไทย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ และมีลักษณะของงานศิลปกรรมบางอย่าง ที่แตกต่างจากศิลปะขอม แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า ศิลปะขอมที่พบในประเทศไทย เพราะเป็นคำรวมที่ครอบคลุมพื้นที่และระยะเวลามากกว่า กล่าวคือ  พื้นที่ของประเทศไทย ที่รับวัฒนธรรมขอมอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘

ที่มาของรูปแบบ

อาคารทรงปราสาทที่ใช้เป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมขอมนั้น มีที่มาจากอินเดีย กล่าวคือ ชาวอินเดียได้สร้างปราสาทขึ้น เพื่อประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา เรียกว่า เทวาลัย โดยสร้างเป็นอาคารที่มีหลังคาซ้อนชั้นขึ้นไปหลายชั้น แต่ละชั้นมีการ ประดับอาคารจำลอง สามารถแยกออกเป็น ๒ สายวัฒนธรรม ได้แก่ อินเดียภาคเหนือ เรียกว่า 
ทรงศิขร (สิ-ขะ-ระ) คือ ปราสาทที่มีหลังคารูปโค้งสูง ส่วนในอินเดียภาคใต้ เรียกว่า ทรงวิมาน คือ ปราสาทที่มีหลังคาซ้อนเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมักประดับอาคาร จำลองจากรูปแบบของปราสาทขอม ในระยะแรกเชื่อกันว่า ได้รับอิทธิพลของทรงศิขร จากอินเดียภาคเหนือ ส่วนทรงวิมานนั้น ส่งอิทธิพลมายังศิลปะชวา ต่อมาภายหลังช่างขอมได้นำเอารูปแบบทั้ง ๒ สายวัฒนธรรม มาผสมผสานกัน จนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเองขึ้น


คติการสร้าง

การสร้างอาคารทรงปราสาทมาจากคติความเชื่อของชาวอินเดียที่ว่า เทพเจ้าทั้งหลายสถิตอยู่ ณ เขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของจักรวาล ซึ่งอยู่บนสวรรค์ การสร้างปราสาทจึงเปรียบเสมือนการจำลองเขาพระสุเมรุมายังโลกมนุษย์ เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้า   และมีการสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าขึ้น เพื่อประดิษฐานไว้ภายใน โดยตัวปราสาทมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้แทนความหมายของเขาพระสุเมรุ เช่น มีปราสาทประธานตรงกลาง มีปราสาทบริวารล้อมรอบ ถัดออกมามีสระน้ำ และกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง การที่ทำหลังคาปราสาทเป็นเรือนซ้อนชั้นก็หมายถึง สวรรค์หรือวิมานของเทพเทวดานั่นเอง ด้วยเหตุที่เป็นการจำลองจักรวาลมาไว้บนโลกมนุษย์ และเป็นที่สถิตของเทพเจ้า จึงต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ ตามที่กำหนดไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ตัวปราสาทจึงมีขนาดใหญ่โต และใช้เวลาก่อสร้างยาวนาน

ความสำคัญ

ด้วยเหตุที่ปราสาทขอมคือ ศูนย์กลางของจักรวาล ดังนั้น ตัวปราสาท และเขตศาสนสถานจึงถือว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และใช้ในความหมายที่เป็นศูนย์กลางของเมืองหรือชุมชน ปราสาทเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ และใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งในศาสนาฮินดูจะมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี เช่น การสรงน้ำรูปเคารพที่อยู่ภายในห้องครรภคฤหะ น้ำที่สรงแล้วจะไหลออกมาทางท่อน้ำเรียกว่า ท่อโสมสูตร ซึ่งต่อออกมาภายนอกตัวปราสาท เพื่อที่ชาวบ้านจะได้นำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไปใช้ นอกเหนือจากปราสาทที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนแล้ว การสร้างสระน้ำและบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ก็เป็นส่วนหนึ่งของปราสาท เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ สำหรับชุมชน ในการอุปโภคบริโภค ดังนั้น การสร้างปราสาทจึงเป็นภาระสำคัญของพระมหากษัตริย์ ที่เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ต้องสร้างขึ้น เพื่ออุทิศให้แก่บรรพบุรุษ หรือให้แก่พระองค์เอง และสร้างบารายให้แก่ประชาชน การสร้างปราสาทที่มีขนาดใหญ่จึงแสดงให้เห็นถึงบุญบารมี และพระราชอำนาจของกษัตริย์แต่ละพระองค์ด้วย




ย่างชม เดินดิน ยลถิ่นนารายณ์บรรทมสินธุ์

ดินแดนสามเหลี่ยมมรกต
งามงดพลาญเสือ
เหลือเฟืออัญญมณี
มากมีพืชเศรษฐกิจ
ถิ่นสถิตสถิตนารายณ์บรรทมสินธุ์
(คำขวัญ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี)

แผนที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

     
   จากคำขวัญของอำเภอน้ำยืน เป็นที่สงสัยของพี่ดาวมานาน เนื่องจากเป็นพนักงานของธนาคารรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งในอำเภอน้ำยืน ที่ได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2538 ซึ่งก็มักจะไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เช่น วัดภูน้อย แก่งลำดวน  สามเหลี่ยมมรกต พลาญเสือ สวนผลไม้  และยังเคยซื้อพลอยของอำเภอน้ำยืน(ทำแหวนแต่งงาน)  อำเภอน้ำยืนเป็นอำเภอที่ไกลจากอำเภอเมือง ประมาณ 120 กิโลเมตร ซึ่งการเดินทางก็ไม่สะดวก ช่วงเย็นก็ไม่สามารถออกไปเที่ยวที่ไหนได้ เนื่องจากติดชายแดนเขมร และบางพื้นที่ยังมีระเบิดฝังอยู่ จึงค่อนข้างอันตราย พี่ดาวอยู่น้ำยืน 2 ปี จึงย้าย ไปปฏิบัติงานสาขาอื่น
          และในปี พ.ศ. 2553 พี่ดาวได้ขอย้ายกลับอำเภอน้ำยืน  ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของอำเภอน้ำยืน  เมื่อกลับมาสิ่งที่พบก็คือ อำเภอน้ำยืน มีถนนสายหลักกว้างมากๆ มีห้างสรรพสินค้า มีร้านค้าขนาดใหญ่ สำนักงานที่ย้ายกลับเข้ามาใหญ่มากๆ  ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่มีมาก โดยเฉพาะในฤดูหนาวเมื่อมองจากตำบลบุเปือยเข้ามาทางอำเภอน้ำยืน ขอบอกเลยว่า..สวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย..เลยค่ะ และเมื่อมีเวลาก็จะไปเที่ยวตามสถานที่ต่างเช่นเคย วัดภูน้อย แก่งลำดวน ช่องบก ฐานอนุพงษ์ ช่องอานม้า และทุกๆที่ที่มีโอกาส แต่สถานที่ที่ยังเป็นที่สงสัยคือ นารายณ์บรรทมสินธุ์  และไม่มีใครพูดถึงเลย 
จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2555 พี่คม(ท่านปลัด อบต.โดมประดิษฐ์) เข้ามาฝากเงินที่ธนาคารและได้ชวนดิฉันไปบวงสรวงนารายณ์บรรทมศิลป์ ซึ่งจัดโดยอบต.โดมประดิษฐ์ (ดีใจมากจะได้รู้ซะทีว่าอยู่ที่ไหน) แต่สิ่งที่พี่คม บอกต่อไปก็คือ ต้องเดินป่าประมาณ 12 กิโลเมตร   ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีห้องน้ำ อาหารต้องเตรียมไปเอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ น้ำดื่ม  (ในใจคิดเลยว่า..สบายมาก..ต้องไปๆ) จึงได้รับปากกะพี่คม...ไปแน่นอน  และได้ไปร่วมประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ ระเด่น บุ้งทอง(ในขณะนั้น)  ได้แจ้งในที่ประชุมเรื่องการขึ้นไปบวงสรวงนารายณ์บรรทมศิลป์ ซึ่งท่านนายอำเภอน้ำยืน นายสมยศ รักษกุลวิทยา จึงได้ให้ผู้ที่ต้องการจะไปให้ยกมือ ซึ่งดิฉันยกมือคนเดียว(หันซ้ายหันขวา ไม่มีใครยกมือ)  จึงหันไปบังคับพี่เขียว(ท่านวัฒนธรรมอำเภอ) ให้ยกมือไปด้วย สรุปในวันนั้นมีไป 2 คน (ใจรู้สึก..น้อยจัง..แต่ก็จะไป เพราะความอยากรู้มีมากกว่า เพื่อนไปหาเอาข้างหน้า..ไปๆๆๆๆๆ)  แต่เมื่อถึงวันจะเดินทาง น้องกุ้ง(หน้าห้องท่านนายอำเภอ) โทรไปถามว่า พี่ดาว ที่จะไปนารายณ์ ไปแน่หรือเปล่า...ตอบทันที่เลย...แน่ใจค่ะ...น้องกุ้งก็บอกเลยว่า OK ขึ้นรถที่บ้านนาย(ท่านนายอำเภอ)
          และคืนนั้นก็นอนไม่หลับเพราะตื่นเต้นที่จะได้เดินป่าครั้งแรกในชีวิต ไปนารายณ์สถานที่ใฝ่ฝันว่าต้องไปให้ได้  เลยเตรียมตัวเต็มที่ในการเดินทาง เช่น เต้นท์ เสื้อผ้า อุปกรณ์อาบน้ำ ไฟฉาย ยากันยุง อาหารแห้ง(มาม่ากระป๋อง 1 โหล เผื่อเพื่อนๆด้วย..)   ตื่นเช้ามากๆรีบออกไปบ้านนาย แต่งตัวเต็มที่ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าบูท(หนัง) เสื้อกันหนาว(ของทหาร)  7.00 น. ถึงบ้านนาย..หนูพร้อมแล้วค่ะ..สิ่งที่นายบอกคำแรกเลยคือ...เจ้าดาว..เปลี่ยนเป็นรองเท้าผ้าใบ..ดีกว่าไหม?  มีหรือนายพูดแล้วจะไม่เปลี่ยน..ก็รีบกลับไปเปลี่ยนเป็นรองเท้าผ้าใบ (ในใจเกิดคำถาม..ทำไมต้องเปลี่ยน..อยากเท่นะ..)  และเมื่อเปลี่ยนรองเท้ากลับมา..ก็เจออีกคำพูดจากน้องๆ อส. ของนาย คือ พี่ดาวเสื้อกันหนาว(หนาและหนักมากๆ)ไม่ต้องเอาไป เกะกะเปล่าๆ (เกิดคำถามในใจอีกแล้ว..ทำไมๆๆๆ)เลยบอกว่า ถือไปก่อนจะเอาทิ้งไว้ในรถ  จากนั้นก็มีผู้ใหญ่อีกหลายๆท่านมาพร้อมกันที่บ้านนาย แล้วเราก็ออกเดินทางไปตำบลโดมประดิษฐ์  โดยรวมกันที่สวนสาธิตเกษตร ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม  ซึ่งเป็นศูนย์รวมก่อนที่จะออกเดินทาง อบต.โดมประดิษฐ์ จัดให้มีการลงทะเบียน แล้วรับข้าวห่อ(ข้าวเหนียว กะ หมูทอด) และน้ำดื่ม จำได้เลยว่าน้องกุ้ง เป็นผู้ที่เอาห่อข้าวมาให้ แต่ตนเองบอกน้องกุ้งไปว่า ..ไม่เป็นไรค่ะ พี่ดาวไม่ทานข้าวเช้า..(ทำเป็นเก่ง..ฮาฮา.)  และ ประมาณ 8.30 น. เราจึงเริ่มออกเดินทาง
          ในกลุ่มที่ร่วมเดินทางก็ได้แก่  ท่านนายอำเภอ ท่านนายกเทศบาลอำเภอน้ำยืน ท่านนายก อบต.โดมประดิษฐ์  ท่านนายกฯ อบต.ยางใหญ่  ท่านวัฒนธรรมอำเภอ น้องกุ้ง  อส. ประมาณ 6 คน แต่ก็มีอีกเยอะที่ทยอยกันเดินขึ้นไป  เดินไปได้ประมาณ 2 กิโลเมตร ความรู้สึกในขณะนั้น ใจเต้นแรง(ตื่นเต้นหรือเปล่า)  เหงื่อเริ่มหยด มองไปรอบๆเริ่มเป็นสีเหลือง เลยสะกิดน้องกุ้ง..พี่ดาวไม่ไหวแล้ว..จะเป็นลม...น้องกุ้งรีบให้หยุดพัก กลัวเป็นลม (ที่สำคัญคือ..ไม่มีใครอุ้มไหวแน่นอน)  ก็นั่งพัก กินข้าวเหนียว กะ หมูทอด(อร่อยที่สุดใน 3 โลกเลย)  ดื่มน้ำ  เลยนึกถึงคำพูดของนาย..เรื่องรองเท้า คำพูดของน้องๆ อส. เรื่องเสื้อ  โชคดีที่ปฏิบัติตามไม่งั้นเป็นลมตั้งแต่ 10 เมตรแรก จากนั้นก็เดินต่อ  เดินมาได้ 30 นาทีก็เจอสีเขียว ที่เขียวๆ เพราะมาถึงจุดที่เป็นลำโดมใหญ่  และเดินต่อไปก็เจอป้ายบอกจุดที่พัก เขียนว่า วังเวิน เป็นแอ่งน้ำใหญ่ๆ หน้าแล้ง ก็พากันนั่งพักล้างหน้า ล้างแขนขา คลายร้อนไปได้เยอะเลย  นั่งนานไม่ได้ต้องรีบเดินทางต่อ เดินๆๆๆๆๆ ตามทางต่อไป ไม่มีป้ายบอกระยะทาง เจอป่าที่ผ่านการถูกไฟ เจอกลุ่มเถาวัลย์แปลกตา ก็พักถ่ายๆ รูปไปเรื่อย มาถึงอีกจุดพักแล้ว จุดพัก
วังเดื่อ เป็นจุดพักที่ดีชอบมาก เพราะมีน้ำให้ดื่ม หน้าแล้งแบบนี้ก็มีน้ำ ที่ไหลออกมาจากตาน้ำบนเขา ถ้าใครน้ำหมดกรอกเก็บไว้ดื่มระหว่างทางได้ ซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า..น้ำจั้น..(น้ำที่ผุดจากใต้ดิน) เป็นน้ำดื่มที่เย็นมาก ดื่มแล้วชื่นใจ  ดื่มน้ำล้างหน้าล้างตานั่งพักสักครู่ก็ต้องรีบเดินทางต่อ เพราะยิ่งพักมากยิ่งเหนื่อย(ในใจร้องอยากกลับ...แต่ต้องสู้ๆๆๆ เพราะตั้งใจมากในการเดินทางครั้งนี้) ลุกขึ้นเดี๋ยวนี้..(สั่งตัวเอง)....แล้วก็เดินๆๆๆๆ จากนั้นความรู้สึกที่ตามมาคือ..ทำไมขาเราถึงหนักขึ้นเรื่อย ไม่ไหวแล้วๆๆๆ  สิ่งที่ตามมาคือทรุดลงนั่ง อยากร้องไห้  ปวดขามากๆ  เพราะเราต้องเดินข้ามสะพานไม้ที่เอามาพาดไว้พอให้เดินข้าม ปีนขึ้นบ้าง ลงบ้าง ปีนก้อนหิน โดยเฉพาะเดินผ่านป่าที่ถูกไฟไหม้เหมือนไม่มีอากาศหายใจ  สิ่งที่ท่องอยู่ในใจคือ ไม่ไหวๆๆๆๆๆ  บางครั้งก็ทิ้งตัวลงนอนไปเลย มอมแมมมากๆ  บ้างก็เป็นตะคริวไปไม่ไหวจนได้ท่านกำนันทำนอง มานวดขาให้ไม่งั้นไปไม่ได้  และแล้วความรู้สึกที่ว่า..เป็นตัวถ่วงคนอื่นก็เริ่มเข้ามาในความคิด..ไม่ได้ๆๆๆทำให้คนอื่นๆช้าไปด้วย  จึงเปลี่ยนวิธีเดินใหม่คือ ร้องเพลง บางครั้งก็ร้องโวยวาย มีน้ำหวานๆเย็นๆรออยู่ข้างหน้า  ก็พอจะได้กำลังใจขึ้นมาบ้าง  และในที่สุดก็ไม่ได้ถืออะไรเลย ทุกคนที่ร่วมทางไปด้วยเอาไปช่วยถือหมด เดินๆๆๆๆ เหนื่อยๆๆๆๆ (จนลืมไปเลยว่าตัวเองมาเพื่ออะไร)  เวลากินน้ำก็ทั้งกินทั้งอาบด้วยเพราะร้อนมากๆ เป็นการเดินทางที่โหดมากสำหรับพี่ดาว
เดินทางต่อจนกระทั่งเกือบ 15.00 น.เราเดินทางถึงจุดหมาย แต่ก็ต้องเดินผ่านลานหินซึ่งเป็นธารน้ำตกซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง เมื่อไปถึงสิ่งที่ได้ดื่มคือ ยาต้มแก้ปวดเมื่อย(ลองดู)  แต่ก็ช่วยความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อได้ จากนั้นก็หาที่พักกัน  เลือกได้เลยว่าจะนอนตรงไหน เพราะที่พักจะเป็นลานหินซึ่งเป็นทางของน้ำในฤดูฝน  เนื่องจากมีโอกาสเดินทางร่วมกับท่านนายอำเภอ จึงได้รับความสะดวกในเรื่องที่นอน ซึ่งทาง อส. ได้ไปจัดหาที่พักใกล้กับลำน้ำ ซึ่งน้ำใสเย็นมาก หลังจากนั่งพักจนหายเหนื่อยแล้ว จึงพากันเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่ออาบน้ำ
ทุกคน รวมทั้งท่านนายอำเภอต่างก็พากันอาบน้ำ พอลงน้ำ ความสนุกก็มาเยือน ทุกคนเล่นน้ำที่ใส เย็น และลึก  แล้วพี่คมก็เอาแพไม้ไผ่ (ไม้ไผ่มัดรวมกันประมาณสัก 10 ต้น) มาให้เกาะลอยน้ำ(ว่ายน้ำไม่เป็น) แล้วพี่คมก็เล่าให้ฟังเกี่ยวกับน้ำตกที่เรากำลังเล่น ว่าที่นี่เป็นต้นน้ำที่ไหลลงไปเป็นลำโดมที่หล่อเลี้ยงชาวตำบลโดมประดิษฐ์ ผ่านไปอำเภอเดชอุดม ผ่านไปอำเภอพิบูลมังสาหาร และเคยเป็นแหล่งที่พบจระเข้น้ำจืด(โอ้..แม่เจ้า  เริ่มกลัวแล้วซิ)  มองไปรอบๆแล้วขนลุก เนื่องจากออกมาไกลมาก  พี่คมเห็นสีหน้าเริ่มไม่ดี พี่คมเลยหัวเราะชอบใจ บอกไม่มีแล้วถึงมีก็คงจะอยู่บนเขาโน้น เราอยู่แค่ครึ่งทาง ไม่มีใครเห็นจระเข้ เราเล่นน้ำกันจนเย็นจึงขึ้นจากน้ำ ที่พักก็นอนกับน้องกุ้ง ส่วนท่านนายอำเภอ และพี่ๆ ต่างก็กางเต้นท์ ผูกเปลนอนบ้าง เดี๋ยวค่ำแล้วจะมืดไม่มีไฟฟ้า แล้วมื้อเย็นของเราทำไง โชคดีไปกะนายอำเภอ น้องกุ้งและน้องๆ อส. ก็หาอาหารให้ท่านนายอำเภอ ก็แบบง่ายๆคือ ข้าว กะหมูทอดที่เหลือจากมื้อเช้า มาม่า แล้วก็ปลาย่าง(ชาวบ้านหาในน้ำตก)   
ประมาณ 19.00 น. เสียงเคาะไม้ไผ่ก็ดังขึ้นเพื่อให้ทุกคนไปรวมกันที่ลานหิน เพื่อร่วมกิจกรรมรอบกองไฟ ซึ่งประธานพิธีคือ ท่านนายอำเภอสมยศ รักษกุลวิทยา เป็นผู้กล่าวเปิดงาน จากนั้นก็เป็นการเล่าประวัติการพบภาพเกะสลักนารายณ์บรรทมศิลป์ โดยพ่อจ้ำ(นายหนูกรณ์ ภาโว) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของผู้ค้นพบภาพแกะสลักนารายณ์บรรทมศิลป์
ในปี พ.ศ.2520  นายสำรอง โลกุ นายเดช สารัตน์  นายหนูสิน ภาโว และนายพรานตึ๋ง  4 นายพรานได้พากันขึ้นมาหาปลา บริเวณวังมน ขณะที่นั่งพักก็มองไปในน้ำ เห็นฝูงปลาจำนวนมากว่ายวนไปวนมา จึงได้ชวนกันลงน้ำเพื่อจะจับปลา จึงได้พบกับภาพแกะสลักนารายณ์บรรทมศิลป์อยู่ในน้ำ เมื่อกลับไปเล่าเรื่องการเจอภาพแกะสลักนารายณ์
ในปี พ.ศ. 2524 พระอาจารย์หนู ได้ปรึกษาชาวบ้านว่าอยากเอาไปไว้ที่วัด ได้นำชาวบ้านมาตัด แต่ไม่สามารถตัดได้ (ยังมีรอยตัดปรากฏให้เห็น) และหลังจากนั้นก็มีเหตุให้ผู้ที่มาตัดต้องมีอันจบชีวิต ยังคงมีพ่อหนูสิน ภาโว ที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นยังมีท่านนายก อบต.โดมประดิษฐ์ ระเด่น บุ้งทอง(สมัยนั้น) เป็นผู้กล่าวประสงค์ของการจัดงาน และ พ.ศ.2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีก็ได้เสด็จด้วยพระบาทข้ามป่าข้ามเขาระยะทาง 14 กิโลเมตรไปทอดพระเนตรนารายณ์บรรทมสินธุ์  จากนั้นก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน
หลังจากแยกย้ายกันพักผ่อน ทุกคนก็กลับที่พักของตน บ้างก็นอน บ้างก็กิน เนื่องจากยังมีชาวบ้านไปหาปลาในวังน้ำที่เราอาบได้ปลาจำนวนมาก ต่างก็มีการแจกจ่ายแบ่งปันกันไป  ส่วนพี่ดาวก็นอนกับน้องกุ้ง  ถัดไปก็เป็นเต้นท์ของท่านนายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการที่มาพร้อมกัน แต่ก็ปรากฏว่าต่างก็นอนไม่หลับ เนื่องจากตรองที่เรานอนเป็นลานหิน ซึ่งก็ยังร้อน(ไม่มีผ้ารอง) และอยู่ในเต้นท์ก็ร้อนมาก พี่ดาวกับน้องกุ้ง ก็ออกมานอนเล่นกันนอกเต้นท์ ก็พบว่าหลายๆท่านก็นอนไม่หลับเช่นกัน จึงพากันนั่งๆนอนๆคุยกันอยู่นอกเต้นท์ 
ดาวบนท้องฟ้าสวยมาก  เนื่องจากไม่มีแสงไฟฟ้า มองไปที่ไหนก็มืดสนิท บนท้องฟ้าดาวเต็มท้องฟ้าสวยมาก  เลยนอนคุยกันจนเผลอหลับไปเมื่อไหร่ไม่รู้  ได้ยินเสียงนายเรียก เจ้าดาว เจ้ากุ้ง เข้าไปนอนในเต้นท์ได้แล้วดึกแล้ว  งัวเงียตื่นขึ้นก็ค่ะ พากันเข้าเต้นท์นอน(สงสัยกรนดังนายรำคาญ..555) พอตื่นแล้วก็หลับอยาก นอนพลิกไปพลิกมา เอาแล้วซิ..ปวดฉี่..ทำไงดี...ไม่ไหๆๆ  เลยเรียกน้องกุ้ง  พี่ดาวปวดฉี่  น้องก็ตื่นพาออกไป เสียงเดินเข้าป่า ก็ทำเอาน้องๆ อส. ที่นอนในป่าถามว่าจะทำอะไรครับ..ปวดฉี่คร้า... น้องๆพากันหัวเราะชอบใจ  ก็บอกให้เดินเข้าในพุ่มไม้หลับตาก็ไม่เห็นใครแล้ว..(เออใช่หว่ะ)  และนั่นก็เป็นการเข้าห้องน้ำแบบธรรมชาติครั้งแรกท่ามกลางผู้คนมากมายเหมือนกัน  จากนั้นก็กลับไปนอน
เสียงผู้คน เสียงเท้าเดินไปเดินมา (โอ๊ยอะไรกันนักหนา)  นอนงัวเงียพลิกไปพลิกมา  โอ๊ยปวดตัวไปหมด ลืมตาขึ้น อ้าวน้องกุ้งไหน เลยลุกขึ้นออกมาล้างหน้าตา ทั้งนาย และพี่ๆหัวหน้าส่วนราชการต่างก็พากันตื่นหมดแล้ว สักพักน้องกุ้งกับ อส.ต่างก็หิ้วกระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำร้อนมาให้เพื่อดื่มกาแฟ(ยาเสพติดชนิดหนึ่ง5555) 
ประมาณ 7.00 น.สียงเคาะไม้ไผ่ก็ดังขึ้น เป็นสัญญาณเรียกให้ไปรวมกันที่ภาพแกะสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพื่อทำพิธีบวงสรวง จากนั้นก็ไปรวมตัวกัน โดยมีท่านนายอำเภอสมยศ   รักษกุลวิทยา เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชา มีพ่อจ้ำ(นายหนูกร ภาโว) เป็นผู้ทำพิธี ซึ่งของไหว้ก็คือ หัวหมู เหล้า น้ำ ผลไม้ ขนม ดอกไม้  หลังจากพิธีเสร็จต่างก็เตรียมตัวเก็บข้าวของสัมภาระเตรียมตัวกลับบ้าน
ประมาณ 10.00 น. ทุกคนต่างเริ่มทยอยกลับ ซึ่งรวมถึงคณะของเราก็เริ่มเดินทาง ขากลับรู้สึกสบายกว่าขาขึ้นมาก (ก็สบายนะซิไม่ได้ถืออะไรเลย น้องๆ อส.เอาไปช่วยถือหมด ให้พี่ดาวเอาตัวเองให้รอดก็พอ555) เพราะต้องรีบลงไปเพราะจะมีพิธีผูกแขนรับขวัญข้างล่างต้องรีบๆๆๆ...ก็พยายามแข็งใจเดินๆๆๆๆพักให้น้อยที่สุด จนลืมที่จะดูความสวยของธรรมชาติเหมือนที่ขึ้นมา  ยิ่งใกล้จะถึงขาก็ยิ่งหนักมากโดยเฉพาะ 500 เมตรสุดท้าย ไม่ไหวจริงจนต้องมีคนให้เกาะ คือคุณพ่อสุวรรณ กับท่านนายกหลาง(ท่านหิ้วน้ำดื่มให้ตลอดทาง) เสียงเชียร์พี่ดาวสู้ๆ ดังมาทำให้พี่ดามีแรงเดินต่อ(น้ำตาซึม เหนื่อยมาก) กัดฟันเดินจนถึงที่หมาย สิ่งแรกที่ทำคือ นอนแผ่ลงกับที่เลย เปื้อนก็ช่าง ไม่สนใจอะไรเลย เหนื่อยมาก  แต่เสียงชมทำให้มีแรงสู้อีก ลุกขึ้นมาเพื่อให้ผู้เฒ่าผู้แก่ของบ้านผูกแขนรับขวัญให้  แต่ก็ต้องกราบขออภัยท่านเนื่องจากเดินเข่าไม่ได้เลย ซึ่งท่านก็ให้อภัย ก็ใช้วิธีเดินก้มให้ท่านผูกให้  และก็ร่วมรับประทานอาหารก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน และหลังจากนั้นมาใครๆเจอหน้าก็จะถามว่า ไปอีกไหม? พี่ดาวตอบได้อย่างมั่นใจเลยว่า..ไปแน่นอนค่ะ...ก็ขึ้นไป 3 ครั้งแล้ว จนพ่อหนูกร ภาโว บอกว่าพี่ดาวเป็นลูกนารายณ์
ปี พ.ศ.2555 ครั้งที่ 1 เดินทางร่วมกับ ท่านนายอำเภอ สมยศ รักษกุลวิทยา
ปี พ.ศ.2556 ไม่ได้เดินทางเพราะติดงานปิดบัญชีสิ้นปีของธนาคาร
ปี พ.ศ.2557 ครั้งที่ 2 เดินทางร่วมกับท่านปลัดอาวุโส เขมราฐ ขัมภะรัตน์ รักษาการนายอำเภอน้ำยืน
ปี พ.ศ.2558 ครั้งที่ 3 เดินทางร่วมกับ ท่านนายอำเภอเกริกชัย ผ่องแผ้ว และคุณนาย ซึ่งในขณะนั้นพี่ดาวต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่ สาขาดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งในครั้งนี้ได้มีลูกสาว น้องเมย์ (ขวัญชนก ถิ่นตองโขบ) ตามขึ้นไปด้วย


ขอขอบพระคุณ คุณดาราวดี  ถิ่นตองโขบ -ผู้เล่าเรื่อง


ส่วนหนึ่ง ของคณะเดินทางเพื่อบวงสรวงภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ 12 มีนาคม 2559


ท่านนายอำเภอน้ำยืน (จ.ส.อ.เกริกชัย ผ่องแผ้ว)

หมายเหตุ อำเภอน้ำยืน  ได้กำหนดพิธีบวงสรวง ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ในห้วงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี