วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ๒,๓๐๐ – ๑,๘๐๐ ปี บ้านสวายน้อย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

ตั้งอยู่บ้านสวายน้อย ตำบลยางใหญ่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากอำเภอน้ำยืน 17 กิโลเมตร ห่างจากวัดสวายน้อยไปทางทิศเหนือประมาณ 80 เมตร ตั้งอยู่ตอนกลางของหมู่บ้าน                               
            พบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2542 ห่างจากวัดสวายน้อยไปทางทิศเหนือประมาณ 30 เมตร ตั้งอยู่ตอนกลางของหมู่บ้าน ลักษณะดินเป็นที่ราบขั้นบันได สูงจากเส้นระดับน้ำทะเลปานกลาง 162 เมตร เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำเก่า บริเวณนี้จัดเป็นดินในชุดโคราช (ร่วนปนทราย สีน้ำตาลปนเทาและบริเวณนี้มีศิลาแลง (Laterite) จากการสำรวจได้พบโครงกระดูกมนุษย์มีชิ้นส่วนกระดูกแขน ขา ฟันกรามล่าง แต่กระดูกทั้งหมดอยู่ไม่ครบอาจเป็นการฝังศพครั้งที่ 2 พบเศษภาชนะดินเผา เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินละเอียด ค่อนข้างบาง ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน มีทั้งตกแต่งลวดลายและแบบผิวเรียบ พบขวานหินขัด 3 ชิ้น ประมาณว่าน่าจะอยู่ระยะก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายราว 2,300 – 1,800 ปีมาแล้ว(กณวรรธน์ สุทธัง, ๒๕๕๐,๒๒)

จากการค้นพบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2542 โดยนายประสิทธิ์ โสภาราษฎรบ้านสวายน้อย ตำบลยางใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง ทางโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 8 จึงได้ออกสำรวจพื้นที่ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งฝังศพ โดยอาจจะเป็นการฝังครั้งที่ 2 เนื่องจากกระดูกในร่างกายเหลืออยู่ไม่ครบทุกส่วน

ข้อสังเกตเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี
          1.ชุมชนโบราณที่พบขวานหิน ในเขต จังหวัดอุบลราชธานี นั้นมักเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยตามถ้ำหรือเพิงผา บนเทือกเขาแถบแม่น้ำโขง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีผาแต้ม บ้านกุ่ม อำเภอโขงเจียม พบขวานหินกะเทาะ/ แหล่งโบราณคดีถ้ำลายมือ บ้านปากลา อำเภอโขงเจียม พบขวานหินกะเทาะ -เพิงผาถ้ำช้างสี/ตาลาว อำเภอเขมราฐ พบขวานหินกะเทาะ
          แหล่งโบราณคดีในพื้นที่ราบนั้นพบเพียง 1 แห่ง คือที่บ้านสำราญ ตำบลหัวเรือ อำเภอเมือง พบขวานหินขัด 2-3 ชิ้น อายุราว 2,500-1,800 ปีมาแล้ว          2. แหล่งโบราณคดีโดยรอบเท่าที่พบในขณะนั้น เป็นแหล่งที่มีอายุอยู่ในระยะสมัยประวัติศาสตร์ลพบุรี
      ด้วยข้อสังเกตข้างต้น บ้านสวายน้อยจึงถือเป็นแหล่งที่น่าสนใจมากแหล่งหนึ่ง และเป็นไปได้หรือไม่ว่าหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจะเป็นของกลุ่มเร่ร่อน เคลื่อนย้ายที่อยู่เสมอๆ และมีความสัมพันธ์กับชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้โดยผ่านทางลำโดมใหญ่นั้นมา ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อคิดเห็นเบื้องต้นเท่านั้น หากพบหลักฐานใหม่ๆ หรือได้หลักฐานเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่พบเครื่องมือหิน และเศษภาชนะดินเผา ลักษณะใกล้เคียงกับหลักฐานที่นี่ในเขตประเทศกัมพูชา ก็อาจจะเป็นข้อมูลใหม่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างมาก (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี.2542,1-4.)

          จากการวิเคราะห์ความเชื่อเรื่องหินตั้ง (Megalith) ในลักษณะความเชื่อทางศาสนาและพิธีศพและความเชื่อในอมตภาพของวิญญาณ กรรม และ การเกิดใหม่  เขียนโดย ดร.จรัส พยัคฆราชศักดิ์  สามารถสรุปเป็นที่มาของประเพณีการฝังศพครั้งที่ ๒ ได้ว่า มนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์มีความเชื่องเรื่องวิญญาณ ภูตผี ปีศาจต่างๆ เชื่อกันว่าพลังชีวิต หรือวิญญาณมีอยู่ในหลักศิลา หรือก้อนหิน เทวดา แม่โพสพสิงอยู่ตามพื้นดิน ต้นไม้ และอยู่ในพืชผลที่เขาปลูก  และความเชื่อในอมตภาพหรือความไม่แตกดับของวิญญาณ หรืออาตมันหรือชีวาตมัน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดของสิ่งที่มีชีวิต ชีวาตมันจะสิงสถิตอยู่ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทุกชนิด เป็นสิ่งที่เที่ยง ไม่แตกดับ อยู่คงกระพัน ไม่มีสิ่งใดสามารถทำอันตรายแก่ชีวาตมันได้ เมื่อคนหรือสัตว์ตาย ร่างกายเท่านั้นที่แตกดับเสื่อมสลายไป ส่วนชีวาตมันจะไม่แตกดับไปด้วย มันจะออกจากร่างกายเก่าไปอาศัยอยู่ในร่างใหม่ ...ใกล้ๆกับร่างมนุษย์ที่ได้พบนั้น ไม่เคยพบร่างเปล่า ยังพบเครื่องใช้ เช่น อาวุธ หรือเครื่องมือ เครื่องภาชนะหลายอย่าง...เป็นเครื่องบอกให้รู้อย่างดีว่า ร่างกระดูกที่พบนั้น เป็นสมัยหินหยาบ หรือสมัยหินขัด...ทำให้เข้าใจได้ว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์ก่อนประวัติศาสตร์ ก็มีความคิดในเรื่องเวียนว่ายตายเกิด มีความเชื่อในเรื่องตายแล้ว เกิดใหม่ เหมือนดวงอาทิตย์ที่ดับลงไปในเวลาค่ำ แล้วก็ขึ้นใหม่ในเวลาเช้า ...ด้วยเหตุนี้เองจึงได้ฝังหรือเก็บศพให้นอนตะแคงข้าง หันหน้าไปทางตะวันตกโดยถือว่าคนตายก็เหมือนอาทิตย์ตก ให้เขามองตามดวงอาทิตย์ที่ตกนั้น แล้วก็ไปเกิดใหม่อย่างเดียวกับพระอาทิตย์ขึ้น(ดร.จรัส  พยัคฆราชศักดิ์,๒๕๓๔,๑๕๓)...และเพื่อป้องกันมิให้ศพนั้นลุกขึ้นมาทำอะไรใครได้ จึงต้องเอาหินมากองทับ แล้วยังมัดแข้งมัดขาเพื่อไม่ให้กลับลุกขึ้นได้ ซึ่งแนวคิดอย่างนี้ ก็ตรงกับลัทธิในทางอื่นๆ ซึ่งได้แผ่เข้ามาจนกระทั่งถึงไทยเราจนทุกวันนี้ เช่น เรื่องตราสังมัดศพ...นอกจากนั้นเพื่อไม่ให้ศพต้องกังวลออกไปหาเที่ยวอาหาร จึงได้ทำหินให้เป็นรูปเหมือนภาชนะที่ใส่อาหารเอาไปเซ่นศพ การเซ่นสรวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ได้เกิดขึ้นด้วยวิธีนี้ ...ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในประเทศไทย ก็คือ หินตั้งเป็นวงกลมที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ทุ่งไหหิน และทั่วไปในดินแดนประเทศลาว ยอดผาที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี       ที่เป็นเค้าว่าเป็นหินตั้งหรือคอกหินในสมัยก่อนประวัติศาสตร์...เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับแหล่งโบราณคดีบ้านสวายน้อย ตำบลยางใหญ่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี จึงอาจสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ดินแดนของอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมิอาจระบุได้ว่าเป็นลักษณะที่เป็นสถานที่หรือบริเวณศักดิ์สิทธิ์หรือบอกขอบเขตของการทำพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งยังไม่สามารถที่จะชี้ชัดลงไปได้
................
อ้างอิงจาก
1.แหล่งโบราณสถาน โบราณคดี และ แหล่งท่องเที่ยว ในเขตอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี.กณวรรธน์ สุทธัง.อัดสำเนา 2550.
2.รายงานผลการสำรวจ แหล่งโบราณคดี บ้านสวายน้อย ตำบลยางใหญ่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี.2542,1-4.)
3.ดร.จรัส  พยัคฆราชศักดิ์.อีสาน 1 ศาสนาและวรรณกรรมนิยมในท้องถิ่น.สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.2534.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น