วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อีสาน หรือ อีศาน หรือ อีศาณปุระ หรือ E-san (แต่ไม่ปรากฎคำว่า อิสาน)


ภาคอีสาน
          ภาคอีสานคล้ายแอ่งกระทะ มีเทือกเขาภูพานพาดตรงกลางแอ่ง ทำให้แบ่งเป็น ๒ ส่วนตามธรรมชาติ คือ แอ่งสกลนคร เรียกอีสานเหนือ กับ แอ่งโคราช เรียก อีสานใต้
          อีสานเหนือ ถือเป็นเขตวัฒนธรรมบ้านเชียง อยู่ตอนเหนือของภูพาน ถึงแม่น้ำโขง เริ่มจากจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร
          อีสานใต้ ถือเป็นเขตวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ อยู่ตอนใต้ของภูพาน แยกย่อยเป็น ๒ เขต ได้แก่ ลุ่มน้ำมูล กับ ลุ่มน้ำชี
          ลุ่มน้ำมูล เป็นวัฒนธรรมพราหมณ์ – มหายาน ตั้งแต่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
          ลุ่มน้ำชี เป็นวัฒนธรรมพุทธเถรวาท ตั้งแต่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ


อีสาน ฝั่งขวาแม่น้ำโขง
          คนอีสาน บางคนเรียก ชาวอีสาน มีหลักแหล่งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย     อีสาน เป็น ชื่อเรียกพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง
          คำว่า อีสาน มีรากจากภาษาสันสกฤต สะกดว่า อีศาน หมายถึง นามพระศิวะ ผู้เป็นเทพดาประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (เคยใช้มาแล้วเมื่อราวหลัง พ.ศ.๑๐๐๐ ในชื่อรัฐว่า อีศานปุระ และชื่อพระราชาว่า อีศานวรมัน) แต่คำบาลีเขียน อีสาน ฝ่ายไทยยืมรูปคำมาจากบาลีมาใช้ หมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
          ตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่หมายตรงกับคำว่า อีสาน” เริ่มใช้เป็นทางการสมัยรัชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ. ๒๔๔๒ ในชื่อ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังหมายถึงเฉพาะลุ่มน้ำมูลถึงอุบลราชธานี จำปาสัก ฯลฯ
          รวมความแล้ว ใครก็ตามที่มีถิ่นกำเนิดหรือมีหลักแหล่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (จะโดยเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่เมื่อไรก็ตาม) ถ้าถือตัวว่าเป็นคนอีสาน หรือ ชาวอีสาน อย่างเต็มอกเต็มใจและอย่างองอาจ ก็ถือเป็นคนอีสานชาวอีสานทั้งนั้น
          ฉะนั้น คนอีสานหรือชาวอีสานจึงไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติเฉพาะ แต่เป็นชื่อสมมุติเรียกคนหลายหลากมากมายในดินแดนอีสาน และเป็นชื่อเรียกอย่างกว้างๆ รวมๆ ตั้งแต่อดีตดึกดำบรรพ์สืบจนปัจจุบัน


โขง – ชี – มูล

ดินแดนอีสานเป็น เขตแห้งแล้ง (dry area) ลักษณะที่ราบสูง (plateau) มีขอบยก สูงคล้ายสี่เหลี่ยมแล้วลาดลงตรงกลางเป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะบริเวณที่เรียกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ มีแม่น้ำสำคัญ 3 สายพาดผ่าน คือ โขงชี มูล และมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ๒ แห่งคือ หนองหานหลวงจังหวัดสกลนคร และหนองหานน้อย จังหวัดอุดรธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น