(ปราสาทภูปราสาท อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลฯ)
ปราสาทแบบเขมรในภาคอีสานมีมากมายนับร้อยแห่ง
ส่วนใหญ่มีที่ตั้งอยู่แถบอีสานล่างใกล้เทือกเขาพนมดงรักในจังหวัดบุรีรัมย์
สุรินทร์ ศรีสะเกษ
เพราะตรงนั้นคือช่องทางผ่านจากแผ่นดินที่ราบอีสานลงไปสู่ดินแดนเขมรต่ำ
เพื่อตรงไปยังศูนย์กลางอำนาจการเมืองและวัฒนธรรมเขมรที่เรียกว่าเมืองพระนคร
หรืออังกอร์ (Angkor)ปราสาทแบบเขมรในภาคอีสานนั้นสร้างขึ้นด้วยวัสดุต่าง
ๆ หากเป็นปราสาทรุ่นเก่านิยมสร้างด้วยอิฐ
ปราสาทรุ่นถัดมานิยมสร้างด้วยหินทราย
ส่วนปราสาทยุคหลังนิยมสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง แต่เอกลักษณ์ของปราสาทแบบเขมรไม่ว่าจะสร้างด้วยวัสดุใดจะนิยมนำแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสลักลวดลายอย่างงดงามวางไว้บนกรอบประตูทางเข้า วัตถุตกแต่งปราสาทดังกล่าวนี้รู้กันดีในชื่อว่า
“ทับหลัง”
วัฒนธรรมการสร้างปราสาทแบบเขมรในภาคอีสานดำเนินติดต่อกันนานถึงราว 400
ปี ปราสาทที่มีอายุเก่าสุดที่ยังคงสภาพเกือบสมบูรณ์คือ
ปราสาทภูมิโพน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีอายุราว 1,300 ปีก่อน
ส่วนปราสาทที่มีการก่อสร้างในกลุ่มท้ายสุดนั้นมีอายุราว 800 ปีก่อน
เช่น ปราสาทนางรำ อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
สำหรับปราสาทที่มีขนาดใหญ่โตและงดงาม เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย
ปราสาทเมืองต่ำ
เป็นปราสาทกลุ่มที่สร้างขึ้นในช่วงกลางของสมัยที่เขมรมีอิทธิพลสูงมาในภูมิภาคอีสานคือเมื่อราว
900 – 1,000 ปีมาแล้ว
ขนาดของปราสาทยังแตกต่างกันอีก ปราสาทบางแห่งมีขนาดใหญ่โตมหัศจรรย์
เมื่อเห็นแล้วให้รู้สึกเหลือเชื่อว่าเป็นฝีมือมนุษย์ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทหินพิมาย
แต่ปราสาทบางหลังประเภทที่ชาวบ้านเรียกว่ากู่ หรือ กุฏิฤาษี
มักมีขนาดเล็กกะทัดรัดน่ารัก เช่น ปรางค์กู่ อำเภอเมืองชัยภูมิ
ความเล็กใหญ่ของปราสาทดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด
(กำแพงภูโคกหินใหญ่ ในเขตอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี)
... ปราสาท
กู่ หรือกุฎิฤาษี นับร้อยแห่งในภาคอีสานนั้นคนโบราณเขาสร้างกันไว้เพื่อ...
ปราสาทกลุ่มแรกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัด เป็นวัดเนื่องในศาสนาฮินดูบ้าง
เนื่องในศาสนาพุทธบ้าง
ที่ทราบได้ดังนั้นก็เพราะจะมีจารึกระบุวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างปราสาทนั้น ๆ
รวมทั้งรู้ได้จากการพบรูปเคารพเนื่องในศาสนาดังกล่าว
และได้ศึกษาจากลวดลายตกแต่งปราสาท
ซึ่งมักจะสลักลวดลายให้สอดคล้องกับคัมภีร์เรื่องราวศาสนาที่ตนนับถือ
ปราสาทแบบเขมรที่เป็นวัดฮินดูสำคัญในภาคอีสานคือ ปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทศรีขรภูมิ ที่นั่นได้พบรูปสลักตามหน้าบันบ้าง ทับหลังบ้าง
เป็นรูปศิวนาฎราช อุมามเหศวร (พระศิวะและพระอุมานั่งเคียงคู่กัน) ตกแต่งจึงรู้ได้ว่าเป็นวัดฮินดูและนับถือพระศิวะเป็นใหญ่
(ลัทธิไศวนิกาย) ส่วนปราสาทที่เป็นวัดเนื่องในพุทธศาสนาที่สำคัญคือปราสาทหินพิมาย
ที่นี่เป็นวัดพุทธศาสนามหายาน นิกายวัชรยาน กล่าวคือ
เป็นวัดสำหรับผู้นับถือพุทธเจ้า 5 พระองค์ที่เป็นตัวแทนของขัณธ์
5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
พระตถาคตแต่ละองค์ยังสามารถปรากฏพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ได้ ที่ปราสาทหินพิมาย
ได้พบหลักฐานว่าเป็นวัดพุทธมหายานในนิกายนั้นก็เพราะพบจารึกระบุเช่นนั้น
และที่สำคัญคือพบภาพสลักพระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัยที่ปรากฏบนทับหลังภายในองค์ปราสาท
ปราสาทกลุ่มที่สองคือพุทธสถานเพื่อการรักษาโรค นักวิชาการยังเรียกด้วยชื่ออื่น
ๆ อีก เช่นเรียกว่า สุขศาลาบ้าง เรีก อโรคยาศาลบ้าง เรียกว่าโรงพยาบาลบ้าง
ปราสาทกลุ่มนี้ล้วนสร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองราชย์
พ.ศ.1724 - 1762
มีจารึกของพระองค์ระบุว่าทรงสร้างสถานที่แบบนี้ไว้ 102
แห่งทั่วพระราชอาณาจักร
เพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานและอุทิศถวายแก่พระพุทธเจ้าผู้รักษาโรคที่มีพระนามว่าพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา
พร้อมทั้งจัดให้มีหมอ เจ้าหน้าที่ และวัสดุอุปกรณ์ไว้พร้อม ที่ปราสาทตาเมือนโต๊ด
อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ได้พบจารึกข้อความดังกล่าว
จึงเชื่อว่าปราสาทตาเมือนโต๊ดคือตัวอย่างปราสาทสุขศาลาอย่างแท้จริง
รูปแบบปราสาทสุขศาลานั้นคือมีปราสาทประธานหนึ่งหลัง
อาคารที่เป็นห้องสี่เหลี่ยมหนึ่งหลัง
อาคารทั้งสองมีกำแพงล้อมรอบโดยมีซุ้มประตูทางเข้าหนึ่งช่อง
ด้านนอกกำแพงจะมีสระน้ำสี่เหลี่ยมหนึ่งสระ
ในภาคอีสานได้พบปราสาทที่มีรูปแบบหลายแห่ง เช่น ปราสาทจอมพระ อำเภอจอมพระ
จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทบ้านปราสาท อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น
ปราสาทกลุ่มที่สามคือที่พักคนเดินทาง หรือมีชื่อว่า
ธรรมศาลา สร้างไว้สำหรับให้ผู้จาริกแสวงบุญใช้เป็นที่พักในขณะเดินทาง
มีจารึกระบุตามเส้นทางจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมายนั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ได้สร้างที่พักคนเดินทางไว้ 17 แห่ง
อยู่ในเขตประเทศไทย 7 แห่ง ...เป็นอาคารทรงปราสาทที่มีห้องยาวเชื่อมต่อกันโดยให้พื้นที่ในห้องส่วนที่เป็นปราสาทนั้นเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพและสวดมนต์
ส่วนพื้นที่ห้องยาวโล่งนั้นใช้เป็นที่พัก ปราสาทตาเมือนที่อำเภอกาบเชิง
จังหวัดสุรินทร์ มีผังใกล้เคียงกับรูปแบบธรรมศาลาในเขมร... ฉะนั้นตัวอย่างของปราสาทแบบเขมรที่เรียกว่าที่พักคนเดินทางที่ดีในภาคอีสานนั้นคือ
ปราสาทตาเมือน (ภูธร
ภูมะทน. 2543,156-157)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น