ความเป็นมา
การสู่ขวัญ
หรือ สูตขวัญ ของชาวอีสาน คงได้รับอิทธิพลมาจากพิธีพราหมณ์ เพราะบรรพบุรุษเคยนับถือทั้งพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ การสู่ขวัญเป็นเรื่องเกี่ยวกับขวัญและจิตใจ เพื่อหาทางก่อให้เกิดขวัญหรือกำลังใจดีขึ้น
ชาวอีสานเห็นความสำคัญทางจิตใจมาก ดังนั้น
วิถีการดำเนินชีวิตแทบทุกอย่างจึงมักจะมีการเรียกร้องพลังทางจิต จะได้ช่วยให้มีพลังใจเข็มแข็ง
สามารถฟันฝ่าอุปสรรคหรือภัยพิบัติได้นั้นเอง จึงเป็นประเพณีถือปฏิบัติยั่งยืนมาจนสมัยนี้
พิธีบายศรีสู่ขวัญ ยังไม่มีผู้ใดยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมาอย่างไร ผู้ที่ทำขวัญหรือที่เรียกว่าหมอขวัญ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเริ่มมีการทำขวัญตั้งแต่เมื่อใด เพียงแต่สันนิษฐานว่าเห็นจะมีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยความเชื่อของคนไทยเชื่อกันว่าบรรดาคนทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีธรรมชาติอย่างหนึ่งเรียกกันว่า “ขวัญ” จะมีประจำกายของทุกคน
มีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษา
ขวัญเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่คอยดูแลประคับประคอง
ชีวิต ติดตามเจ้าของไปทุกหนทุกแห่ง
ความหมายบางคำเกี่ยวกับพิธีบายศรีสู่ขวัญ
ในการศึกษาเกี่ยวกับการบายศรีสู่ขวัญ
ข้าพเจ้าเห็นว่า มีคำหลายๆคำที่ควรทราบเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ ดังนี้
คำว่า "ขวัญ" เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างหน้าตาปรากฏให้เห็น ไม่สามารถจับต้องหรือสัมผัสได้
แต่จะสังเกตได้ด้วยความรู้สึก ถ้าขวัญของผู้ใดอยู่กับตัวผู้นั้นจะมีความสุขกายสบายใจเป็นปรกติ แต่ถ้าขวัญของผู้ใดหลบลี้หนีหายผู้นั้นจะมีลักษณะอาการตรงกันข้าม พิธีบายศรีสู่ขวัญที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันนี้ คนไทยเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมเพิ่มพลังใจให้เข้มแข็ง เมื่อมีขวัญที่มั่นคงพลังใจที่เข้มแข็งดีแล้ว ย่อมส่งผลให้การประกอบภารกิจหน้าที่นั้น
ๆ บรรลุผลสำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย
คำว่า “ขวัญ” นั้นเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายกับจิตหรือวิญญาณแฝง อยู่ในตัวคนและสัตว์
ตั้งแต่เกิดมาทุกคนมีขวัญกันทั้งนั้นและในบางแห่งเรามักแปลว่า “กำลังใจ” ก็มีคำว่า “ขวัญ” ยังมีความหมายอีกว่าเป็นที่รักที่บูชา เช่นเรียกเมียที่รักว่า
“เมียขวัญ” หรือ “จอมขวัญ” เรียกลูกรักหรือลูกแก้วว่า “ลูกขวัญ” สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือกันนำมาฝาก
นำมาให้เพื่อเป็นการทะนุ ถนอมน้ำใจกันเราก็เรียกว่า
“ของขวัญ”
“ขวัญ” อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ขน หรือผม ที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย
“ขวัญ” เป็นสิ่งที่มีอยู่กับคนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น
คนที่ตายไปแล้วจะไม่มีการกล่าวเรียกขวัญ
คำว่า “ พาขวัญ ” เป็นภาษาอีสาน มีความหมายเช่นเดียวกับ “ พานบายศรี ” มีการแต่งพาขวัญพร้อมเครื่องสังเวยต่างๆ เหมือนกัน
คำว่า “ บายศรี
” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า
ภาชนะใส่เครื่องสังเวยในพิธีทำขวัญ หรือ สู่ขวัญ จัดตกแต่งให้สวยงาม เป็นพิเศษด้วยใบตอง และดอกไม้สด มีข้าว ขนม ข้าวต้มเป็นเครื่องประกอบอันสำคัญ การทำพิธีเรียกขวัญ
จึงเรียกว่า “ บายศรีสู่ขวัญ ”
ความหมายของ “บายศรี” นั้น สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพล มาจาก ลัทธิพราหมณ์ ซึ่งเข้ามา
ทางเขมร ทั้งนี้เพราะ
คำว่า “ บาย ” ภาษาเขมร แปลว่า ข้าวสุก ภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า จับต้อง สัมผัส ส่วนคำว่า “ ศรี ” มาจากภาษาสันสกฤต
ตรงกับ ภาษาบาลีว่า “ สิริ ” แปลว่า มิ่งขวัญ
ดังนั้นคำว่า “ บายศรี
” น่าจะแปลได้ว่า ข้าวขวัญ หรือ
สิ่งที่น่าสัมผัส กับความดีงาม “ บายศรี
” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า
ข้าวอันเป็นสิริ, ขวัญข้าว
หรือ ภาชนะใส่เครื่องสังเวยและพิธีทำขวัญต่างๆ
สมัยโบราณ
มีการเรียกพิธี สู่ขวัญว่า
“ บาศรี ” ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเป็นพิธีสำหรับบุคคล ชั้นเจ้านาย เพราะคำว่า “ บา ” เป็นภาษาโบราณ
อีสานใช้เป็น คำนำหน้า เรียกเจ้านาย เช่น บาท้าว บาบ่าว บาคราญ เป็นต้น
ส่วนคำว่า “ ศรี ” หมายถึง ผู้หญิงและ สิ่งที่เป็นสิริมงคล “ บาศรี ” จึงหมายถึง การทำพิธีที่ เป็นสิริมงคล แต่ปัจจุบันนี้ คำว่า “บาศรี” ไม่ค่อยนิยมเรียกกันแล้ว
มักนิยมเรียกว่า “บายศรี”
ความสำคัญของ การบายศรี
“ การบายศรี
” ทีทั้งศิลปะและวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวอีสาน
แต่ครั้งโบราณกาล เป็นประเพณีอันดีงามสืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน
“ การบายศรีสู่ขวัญ
” เป็นกุศโลบายให้คนมีน้ำจิตน้ำใจอันใสบริสุทธิ์แสดงมุทิตาจิตต่อกัน เพื่อรวมจิตรวมใจให้แก่ผู้ที่จะ
“ สู่ขวัญ
” อันเป็นที่รัก เคารพ นับถือ ศรัทธาและบูชาสูงสุด
เช่น ชาวอุบลฯ รวมน้ำใจ “ ถวายขวัญผูกข้อพระกร
” เป็นการ “ เฉลิมพระขวัญ ” ล้นเกล้า ทั้งสองพระองค์
ที่วัดสุปัฎนารามวรวิหาร เมื่อ 17
พฤศจิกายน
2498 เป็นศุภวาระครบ
50 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี
เสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานี
ดังนั้น
จะเห็นได้ว่า ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีกรรมในการรับขวัญแก่ผู้ที่โชคดีหรือเป็นการลดความโชคร้ายในเหตุที่ไม่ดีให้เบาบางลง
ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังใจในการดำรงชีวิต เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข
นอกจากนี้ยังมีการบายศรีสู่ขวัญในพิธีสำคัญต่างๆ และในกิจต่างๆ
ที่ไม่ได้มุ่งหมายของการเสริมสร้างกำลังใจแต่เป็นการตอบแทนบุญคุณ เช่น
การบายศรีข้าว การบายศรีควาย เป็นต้น
ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเรื่องพิธีกรรมการบายศรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น