วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

การปฏิรูปการปกครองเมืองอุบลราชธานี สมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

การปฏิรูปการปกครองเมืองอุบลราชธานี สมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
การปรับปรุงการปกครองระยะแรก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงพยายามแก้ไขรูปแบบการปกครองของมณฑลลาวกาวให้เข้ากับลักษณะที่ใช้อยู่ในภาคกลาง เช่น ทรงเปลี่ยนตำแหน่งเส้นที่ใช้เรียกตำแหน่งปกครองในท้องที่เรียกว่า แขวง ผู้ปกครองเดิมที่เรียกว่านายเส้นนั้นเรียกว่า นายแขวง เป็นต้น นอกจากนั้นยังดำเนินการเร่งด่วนในการปราบปรามนักการพนันและโจรผู้ร้ายเพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข พระองค์โปรดเกล้าฯให้เพิ่มตำแหน่ง ตาแสงสำหรับตรวจจับผู้ร้ายหมู่บ้านละ ๓ คน และเพิ่มกองปราบให้มีหน้าที่ตรวจจับและปราบปรามทั่วไป (เหมือนตำรวจสันติบาลปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ยังทรงนำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นหลักในการปกครองเมืองอุบลราชธานีซึ่งถือน้ำครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๗ ณ วัดศรีทองวนาราม (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม)
การปรับปรุงการปกครองระยะที่สอง  พ.ศ.๒๔๓๗ ทางส่วนกลางประกาศใช้ระบบการปกครองและมณฑลเทศาภิบาล และพ.ศ.๒๔๔๐ ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่รัตนโกสินทร์  ร.ศ.๑๑๖ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงปรับปรุงการปกครองเมืองอุบลราชธานีให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ โดยทรงยกเลิกตำแหน่งอาชญา ๔ และให้เรียกชื่อใหม่ดังต่อไปนี้
เจ้าเมือง   เรียกว่า  ผู้ว่าราชการเมือง
อุปฮาด    เรียกว่า  ปลัดเมือง
ราชวงศ์    เรียกว่า  ยกกระบัตรเมือง
ราชบุตร   เรียกว่า  ผู้ช่วยราชการเมือง
          ต่อมา พ.ศ.๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯให้ชื่อเรียกเมืองชายพระราชอาณาเขต ๓ มณฑลตามชื่อพื้นที่ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเรียกชื่อเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอุบลราชธานี เมืองศรีสะเกษและหัวเมืองอื่นๆซึ่งรวมกันเป็นมณฑลลาวกาวนั้นว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ  เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๒ และต่อมาวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๒ มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมพระราชทานศักดินาแก่เจ้านาย พระยา ท้าวแสนเมืองประเทศราชเพื่อให้มีศักดิ์ สิทธิเทียบเท่ากับข้าราชการไทยทั่วไป
          ประการสำคัญก่อให้เกิดปัญหาต่อการปกครองในระยะเวลาต่อมาคือปัญหาคนในบังคับต่างประเทศ อาทิ ชาวลาว เขมร และญวน ซึ่งก่อปัญหาขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์จึงทรงให้สำรวจสำมะโนครัวและให้จดทะเบียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะในปี ๒๔๔๒นั้น ฝรั่งเศสได้จัดตั้งกงสุล ณ เมืองอุบลราชธานี และเมืองนครราชสีมา
          พระองค์จึงทรงออกประกาศเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ ตักเตือนให้ประชาชนตามหัวเรื่องที่อยู่ในบังคับบัญชาทุกคนมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และปฏิบัติตามประกาศที่เผยแพร่ เป็นต้นว่า พึงเสียเงินส่วยตามหน้าที่ เมื่อมีคดีความร้องเรียนอย่างไร ถ้าไม่พอใจในคำตัดสินควรดำเนินการอย่างไร นอกจากนั้นยังมีประกาศเกี่ยวกับการทำพิมพ์รูปพรรณสัตว์ ห้ามสักขาลาย อนุญาตให้ใช้โป้งมือแตะเอกสารแทนการเขียนชื่อลงท้ายเอกสารต่างๆ
การปรับปรุงการปกครองระยะที่สาม  พ.ศ.๒๔๔๓ มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้เรียกชื่อบางมณฑลใหม่เพื่อให้สั้นและเรียกง่าย คือ
มณฑลตะวันออก                 เรียกว่า     มณฑลบูรพา
มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ        เรียกว่า     มณฑลอีสาน
มณฑลฝ่ายเหนือ                   เรียกว่า    มณฑลอุดร
มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ      เรียกว่า    มณฑลพายัพ
    ต่อมาเมื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลแล้วมณฑลอีสานจึงรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๕ บริเวณ คือ
บริเวณอุบลราชธานี  มี ๓ เมือง ได้แก่ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ
บริเวณจำปาศักดิ์  มี ๑ เมือง คือ เมืองนครจำปาศักดิ์
บริเวณขุขันธ์  มี ๓ เมือง ได้แก่ เมืองขุขันธ์เมืองศรีสะเกษ และเมืองเดชอุดม
บริเวณสุรินทร์  มี ๒ เมือง ได้แก่ เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ
บริเวณร้อยเอ็ด  มี ๕ เมือง ได้แก่ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม เมืองกมลาสัย และเมืองกาฬสินธุ์



ส่วนการดำเนินงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ที่ทรงปฏิบัติเมื่อเสด็จมาประทับ ณ เมืองอุบลราชธานีนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีต่อเมืองอุบลราชธานีอย่างยิ่ง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การดำเนินงานดังกล่าวมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของเจ้าเมืองและข้าราชการผู้ใหญ่บางคนที่ต้องหมดอำนาจและผลประโยชน์ที่เคยได้รับ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดขบฎผู้มีบุญขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมพ.ศ.๒๔๔๔ การขบฏในครั้งนั้นแผ่ขยายอาณาบริเวณกว้างขวางทั่วภาคอีสาน แต่มีความรุนแรงที่สุด ณ บริเวณเมืองอุบลราชธานี ได้ปะทะกันจนเกิดการล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น