วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ฮีต ๑๒ คอง ๑๔


ประเพณี วัฒนธรรม


ชาวอุบลราชธานี


ชาวอุบลฯส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ พุทธศาสนา พราหมณ์ ผีสาง และธรรมชาติ อย่างผสมกลมกลืนเช่นเดียวกับคนอีสานทั่วไป ประเพณี วัฒนธรรมที่ปรากฎทั้งในส่วนที่เป็นความคิด พิธีกรรม และวัตถุ ส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามฮีตและคองดั้งเดิม ซึ่งมีฮีตสิบสองและคองสิบสี่เป็นหลัก ในปัจจุบันการปฎิบัติตามฮีตและคองได้เปลี่ยนแปลงไปมากตามแรงกระทบจากวัฒนธรรมภาคกลางและวัฒนธรรมภายนอก นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ชาวอุบลฯ โดยเฉพาะชาวชนบทยังคงรักษาและปฎิบัติตามฮีต-คองอย่างเหนียวแน่น ซึ่งเป็นจุดเด่นของชาวอุบลฯ โดยส่วนรวม พิธีกรรมและถาวรวัตถุที่ปรากฎทั้งอยู่ในเขตตัวเมืองอุบลฯและในชนบท เป็นเครื่องบ่งบอกให้เห็นว่าความคิด ความเชื่อของชาวอุบลฯ ยังเป็นไปตามฮีต-คอง อย่างเหนียวแน่น ความยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานีในอดีตและปัจจุบันมิได้อยู่ที่ความมั่นคงทางด้านทรัพยากรและ เศรฐษกิจแต่หากอยู่ที่รากฐานทางวัฒนธรรมที่มั่นคง เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชาวอุบลฯที่จะต้องช่วยกันทำนุบำรุง ส่งเสริมและพัฒนา ให้เอื้อประโยชน์ต่อลูกหลานขาวอุบลฯสืบไปในลักษณะที่พึงประสงค์

          การปฎิบัติและพัฒนาตามฮีตที่มีชื่อเสียงของชาวอุบลฯได้แก่ ประเพณีแห่เทียนพรรษา (เดือน ๘)และการวิปัสนากรรมฐานของพระสงฆ์ สายวัดป่า นอกจากนี้แล้วยังมีงานบุญตามฮีตในเดือนต่าง ๆ เช่นบุญกองบวช บุญข้าวจี่ บุญสรงน้ำ บุญบั้งไฟ บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก ฯลฯ ยังมีจารีตประเพณีอันดีมากมายของชาวอุบลฯที่ต้องสืบสานสู่ลูกหลานชาวอุบลต่อไป เช่น การลงแขกแรงงาน ดนตรีและนาฎศิลป์พื้นบ้านอุบลฯ การทอผ้า งานหัตถกรรมพื้นบ้านต่าง ๆ

 

ขนบธรรมเนียมประเพณี


          ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานได้รับอิทธิพลจากล้านช้าง เข้าใจว่าวัฒนธรรมล้านช้างได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน นั้นคือการเคารพบรรพบุรุษ ผีปู่ตา ผีแถน ผีตาแฮก (ผีนา ผีไร่)ขนบธรรมเนียมประเพณีของภาคกลางจึงมีลักษณะเป็นพราหมณ์มากกว่าพุทธ ดังปรากฏใน”พระราชพิธีสิบสองเดือน” ส่วนประเพณีของภาคอีสานมีลักษณะเป็นพุทธมากกว่า ดังเห็นในรายละเอียดฮีตสิบสองคองสิบสี่

 

ฮีตสิบสอง


          ฮีตสิบสอง หมายถึง ประเพณีที่จะต้องปฏิบัติทั้งสิบสองเดือนในแต่ละปี “ฮีต” มาจากคำว่า จารีต ถือเป็นจรรยาของสังคม ถ้าฝ่าฝืนมีความผิด เรียกว่า ผิดฮีต หมายถึง ผิดจารีต

ฮีตสิบสอง สามารถสรุปไดดังนี้

          เดือนอ้าย(เดือนเจียง) บุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม(ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตนและมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัยต่อไป ทางด้านฆราวาสก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่าง ๆ ดังมีคำกล่าวว่า

“…ถึงเดือนเจียงนั่นให้ฝูงหมู่เจ้าเลี้ยง ผีมด ผีหมอ ผีฟ้า ผีแถน และนิมนต์พระสงฆ์ พระเจ้ามาเข้ากรรมนั้นแล…”

          เดือนยี่   ทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน นิมนต์พระสวดมนต์เย็นเพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันข้าวเช้าแล้วจะมีพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านจะเก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน ดังคำโบราณว่า”…เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมุงคูณเอาบุญคูณข้าวเตรียมเข่าป่าหาไม้เฮ็ดหรัว เฮ็ดฟื้นไว้นั่นก่อนอย่าได้หลงลืมถิ่น ฮีตของเก่าเฮาเด้อ…”

          เดือนสาม  ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่จะเริ่มตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อย นำไปจี่แล้วชุบด้วยไข่เมื่อสุกแล้วนำไปถวายพระดังความว่า”…พอถึงเดือนสามค่อย (คล้อย)เจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ปั้นข้าวจี่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยเซ็ดน้ำตา…”

          เดือนสี่  ทำบุญพระเวสฟังเทศมหาชาติ มูลเหตุเนื่องมาจากพระคัมภีร์มาลัยหมื่นและมาลัยแสนว่า ถ้าผู้ใดปรารถณาที่จะพบพระศรีอริยะเมตไตย หรือเข้าถึงศาสนาของพระพุทธองค์แล้ว จงอย่าฆ่าบิดา มารดา สมณะ พราหมณาจารย์ อย่ายุยงให้พระสงฆ์แตกสามัคคีกัน กับให้อุตส่าห์ฟังคำเทศนา เรื่องพระมหาเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดียวเป็นต้น ในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระ ซึ่งเรียกว่า”กัณฑ์หลอน” หรือถ้าเจาะจงจะถวายเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มาก็เรียกว่า”กัณฑ์จอบ” เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อน

          เดือนห้า ตรุษสงกรานต์ หรือบุญสรงน้ำ

          การสรงน้ำมีการรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้หลัก ผู้ใหญ่ การทำบุญมีการถวายทาน การทำบุญสรงน้ำกำหนดเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ บางทีเรียกว่า บุญเดือน ๕ ถือเป็นเดือนสำคัญเพราะเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่

          เดือนหก ทำบุญบั้งไฟ และบุญวันวิสาขบูชา

          การทำบุญบั้งไฟเพื่อขอฝนและจะมีการบวชนาคพร้อมกันด้วยารทำบุญเดือนหกเป็นงานสำคัญก่อนลงมือทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะมาทำบั้งไฟแข่งขันกัน เจ้าภาพ(หมู่บ้านที่รับเป็นเจ้าภาพ) จะจัดอาหาร เหล้ายาเลี้ยง โดยไม่คิดมูลค่า เมื่อถึงเวลาก็จะแห้บั้งไฟ และเซิ้งออกไป ณ ที่จุด การเซิ้งเป็นการสนุกสนานมาก นับเป็นชุมนุมครั้งสำคัญ การทะเลาะกันไม่ค่อยจะมี จะมีการพูดจาลามก หรือสัญลักษณ์เรื่องเพศมาแห่แหน โดยไม่ถือว่าเป็นของหยาบคาย

          ส่วนการทำบุญวันวิสาขบูชา กลางวันมีการเทศน์ กลางคืนมีการเวียนเทียน เช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ

          เดือนเจ็ด ทำบุญซำฮะ(ล้าง) หรือ บุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีเมือง ผีตาแฮก เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณดังคำกลอนว่า

“…ฮีตหนึ่งนั้น พอเมื่อเดือนเจ็ดแล้วจงพากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเหล่านั้นบูชาแท้สุ่ภายตลอดไป ฮอดอาฮักใหญ่มเหสัก ทั้งหลักเมืองสู่หนบูชาเจ้า พากันเอาใจตั้งทำตามฮีตเก่า นิมนต์สังฆเจ้าชำระแท้สวดมนต์…”

          เดือนแปด  ทำบุญเข้าพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรงจึงคล้ายกับประเพณีทางภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เช่น มีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ สามเณร มีการฟังธรรมเทศนาตอนบ่าย ชาวบ้านหล่อเทียนใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาและจะเก็บไว้ตลอดพรรษา

          เดือนเก้า  ทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ โดยการจัดอาหารหมาก พลู เหล้า บุหรี่ แล้วนำไปวางไว้ใต้ต้นไม้ หรือที่ใด ที่หนึ่ง พร้อมทั้งเชิญวิญญาณญาติมิตรที่ล่วงลับไปมารับเอาอาหารไป ต่อมาใช้วิธีกรวดน้ำแทน

          เดือนสิบ ทำบุญข้าวสาก (สลากภัตต์)ตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๑๐ หรือเรียกว่า บุญเดือนสิบ ผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุ สามเณรรูปใด จับได้สลากของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ การ ทำบุญเดือนสิบนี้เป็นการอุทิศให้แก่ผู้ตายเช่นเดียวกัน

          เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา หรือบุญเดือน ๑๑ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำพระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้โอวาทเตือนพระสงฆ์ ให้ปฏิบัติตัวอย่างผู้ทรงศีล เป็นอันเสร็จพิธี พอตกกลางคืน มีการจุดประทีปโคมไฟ นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัดหรือตามริมรั้ววัด

          เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน การทำบุญกฐินเริ่มตั้งแต่ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒    เรียกว่าบุญเดือน ๑๒ สำหรับประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำจะมีการแข่งเรือด้วย เช่น ในแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล เพื่อระลึกถึง อุสุพญานาค ดังคำกลอน เช่น”…เดือนสิบสองมาแล้วลมวอยสั่น เดือนนี้หนาวสะบั้นบ่คือแท้แต่หลัง ในเดือนนี้เพิ่นว่าให้ลงทอพวยเฮือส่วง กับบูชาฝูงนาโคนาคเนาในพื้น…”

          บางแห่งทำบุญดอกฝ้ายเพื่อใช้ทอผ้าห่มกันหนาวถวายพระเณร จะมีพุตะไลจุดด้วย ประเพณีที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนอ้ายจนถึงเดือนสิบสอง อีกทั้งยังสร้างความสามัคคีในหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย

คองสิบสี่


          คองสิบสี่ ครองธรรม ๑๔ อย่าง เป็นแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างผู้ปกครอง และผู้อยู่ใต้การปกครอง หรือระหว่างคนธรรมดาที่พึงปฏิบัติต่อกัน ได้แก่

          ๑.ฮีตเจ้าคองขุน เจ้า หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุด อีสานเรียกว่า “เจ้า”  ส่วนขุน หมายถึงข้าราชการ ขุนนาง ฮีตเจ้าครองขุนคือการปฏิบัติระหว่างพระเจ้าแผ่นดิน กับขุนนาง

          ๒.ฮีตท้าวคองเพีย ท้าวเป็นการเรียกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เช่นเจ้าอุบฮาด ท้าวราชวงศ์ ท้าวราชบุตร ท้าวศรีโคตร เพีย หมายถึง พระยาตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่

          ๓.ฮีตไพร่คองนาย  ไพร่ ได้แก่ราษฏรที่ต้องปฏิบัติตามระบอบกฏหมายบ้านเมือง มีคำพังเพยว่า “ได้เป็นนายแล้วให้หลิงดูพวกไพร่แน่เด้อ ไพร่บ่ย่องสีหน้าบ่เฮืองได้แล้ว”

          ๔.ฮีตบ้านคองเมือง หมายถึงกฏ ระเบียบ ของบ้านเมืองดังความว่า “..เป็นพญาสร้างคองเมืองตุ้มไพร่ ให้ฮู้จักฮีตบ้านครองสร้างฮ่อ ฮุ่งเฮือง ขุนใดมีใจกล้าครองเมืองฮ่อฮุ่งเฮือง ขุนขี้ย่ายครองบ้านบ่ฮุ่งเฮือง…”

          ๕.ฮีตปู่คองย่า

          ๖.ฮีตพ่อคองแม่

          ๗.ฮีตสะใภ้คองเขย

          ๘.ฮีตป้าคองลุง

          ๙.ฮีตลูกคองหลาน

          จากข้อ ๕-๙ เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติระหว่างคนในครอบครัว

          ๑๐.ฮีตเฒ่าคองแก่ เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติของผู้เฒ่า ผู้แก่ที่จะต้องวางตนให้เป็นที่เคารพของลูกหลาน

          ๑๑.ฮีตปีคองเดือน หมายถึงการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีใน ๑๒ เดือน หรือตามฮีตสิบสอง

          ๑๒.ฮีตไร่คองนา หมายถึง ธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติในการทำไร่ ทำนาเช่นต้องขยันหมั่นเพียรตามกาลเวลา ไม่ทอดทิ้งการทำพืชมงคล

          ๑๓.ฮีตวัดคองสงฆ์ เป็นหลักสำหรับบุคคลต้องยืดถือปฏิบัติต่อพระศาสนา ๑๔ ประการ คือ

                   (๑)เมื่อข้าวหรือผลไม้ผลิดอกออกผล ให้นำไปถวายพระภิกษุเสียก่อนแล้วตนจึงบริโภคภายหลัง                                       

( ๒)อย่าทำตาชั่งปลอม อย่ากล่าวคำหยาบต่อกัน

                   (๓)ให้พร้อมกันทำรั้วหลัก และกำแพงล้อมวัดและบ้านเรือนของตน กับให้ปลูกหอบูชาไว้ทั้งสี่มุมบ้านเรือน

                   (๔)ก่อนจะขึ้นบนบ้านให้ล้างเท้าเสียก่อน

                   (๕)ถึงวันพระ ๗-๘-๑๔–๑๕ ค่ำ ได้ทำการคารวะเตาไฟ บันได และประตูบ้านที่ตนอาศัย เข้าออกทุกวัน

                   ( ๖) ก่อนเข้านอนให้ล้างเท้าเสียก่อน

                   (๗)เมื่อถึงวันพระให้เมียเอาดอกไม้ ธูป เทียน มาคารวะผัวตัวเอง (ผัวที่ดี)

                   (๘)ถึงวันพระเดือนดับและวันพระเดือนเพ็ญให้นิมนต์พระภิกษุมาสวดที่บ้าน            

(๙) เมื่อพระภิกษุสามเณรมาบิณฑบาตอย่าให้ท่านคอย เวลาใส่บาตรอย่าให้ถูกตัวท่าน กับอย่าสวมรองเท้า กางร่ม ใช้ผ้าโพกหัว อย่าถืออาวุธเวลาใส่บาตร

                   (๑๐)เมือพระภิกษุเข้าปริวาสกรรม ให้นำดอกไม้ธูปเทียนแพถวายท่าน

                   (๑๑)เมื่อเห็นพระภิกษุเดินมาให้นั่งลงยกมือไหว้

                   (๑๒)อย่าเหยียบเงาพระภิกษุ สามเณร ผู้ทรงศีล

                   (๑๓)อย่านำเอาอาหารที่ตนเหลือกินไปถวายพระภิกษุสามเณร

                   (๑๔)อย่าเสพกามคุณในวันพระ

          ๑๔.ฮีตเจ้าครองเมือง เป็นแบบแผนสำหรับผู้ปกครอง

 


 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น