วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

อุษา (เช้าตรู่, ตะวันออก) กับ อาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้)

อุษาคเนย์ 


เป็นชื่อที่คุณไมเคิล ไรท์ ผูกขึ้นจากภาษาบาลี-สันสกฤต ตั้งใจจะหมายถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพื่อใช้แทนคำว่าเอเชียอาคเนย์ ซึ่งหัวมังกุ ท้ายมังกร เพราะเอเชียเป็นคำฝรั่งได้จากคำบาลี-สันสกฤต อุษา (เช้าตรู่, ตะวันออก) กับ อาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้)
ทั้งนี้โดยไม่มีเจตนาสร้างศัพท์บัญญัติขึ้นใหม่ให้วงการใดๆ แค่ผูกคำใช้เองในข้อเขียนของเขาเองที่ลงพิมพ์เฉพาะนิตยสารรายเดือนศิลปวัฒนธรรม ช่วงเริ่มต้นราว 30 กว่าปีมาแล้วเท่านั้น ซึ่งตอนนั้นกระจอกงอกง่อยมากๆ
ครั้นนานไปมีบางคนชอบคำนี้ว่ามีวรรณศิลป์ ไพเราะดี จึงใช้เขียนแทนเอเชียอาคเนย์จะได้ไม่จำเจ ก็แค่นั้นเอง ซึ่งใครชอบก็ใช้ ไม่ชอบก็ไม่ใช้ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่างมีเสรีทางภาษา
แต่มีครูบาอาจารย์บางสถาบันออกอาการ ผู้พิทักษ์ภาษา “ไทยไท้ยไทย” ใจแคบ นอกจากตัวเองไม่ชอบแล้ว ยังบังคับคนอื่นให้ไม่ชอบโดยประกาศห้ามนักศึกษาใช้คำนี้ด้วย
ตอนนั้นผมเป็นบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม จึงรู้เห็นเป็นใจกับความเป็นมาของคำว่าอุษาคเนย์ แล้วยินดีที่คุณไมเคิล ไรท์ ใช้คำนี้ในข้อเขียน จนเขาถึงแก่มรณกรรมไป ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งชื่นชมใช้ด้วยความเคารพผู้สร้างสรรค์ศัพท์วรรณศิลป์คำนี้ขึ้นมา
แต่ผมเองไม่เคยรู้ว่าชื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มายังไง?
เพิ่งเข้าใจ เมื่อได้อ่านเอกสารประกอบโครงการเสวนาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรม “วัฒนธรรมเสวนา” เรื่องความเป็นมาของผู้คนและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : จากสังคมแบบดั้งเดิมสู่แว่นแคว้นก่อนถึงประชาคมอาเซียนจัดโดย คณะโบราณคดี ม. ศิลปากร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2555
เอกสารนี้เรียบเรียงจากคำสอนวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ของ อ.สุรพล นาถะพินธุ จะคัดมาแบ่งปันให้กว้างขวางดังต่อไปนี้
“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “เอเชียอาคเนย์” เป็นคำใหม่ แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “Southeast Asia” อันเป็นคำที่เพิ่งปรากฏในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
คำนี้ถูกใช้ในความหมายครอบคลุมพื้นที่ของทวีปเอเชีย ตั้งแต่ประเทศพม่าไปจนจรดฟิลิปปินส์ ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก และครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ประเทศเวียดนามไปจนจรดอินโดนีเซีย ตามแนวเหนือ-ใต้ ประกอบไปด้วยพื้นที่หลัก 2 ส่วน ได้แก่
1. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เส้นรุ้งขนานที่ 13 องศาเหนือ ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ที่ประมาณใต้แม่น้ำแยงซี ลงมาจนจรดปลายคาบสมุทรมาเลย์ และจากชายฝั่งทะเลจีนใต้ไปจนจรดแม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า
ปัจจุบัน พื้นที่ภูมิภาคย่อยนี้ แบ่งเป็นพื้นที่ของประเทศต่างๆ คือ ภาคใต้ของประเทศจีน ประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย
2. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคหมู่เกาะ ประกอบด้วย หมู่เกาะทั้งหมดที่อยู่นอกชายฝั่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งเกาะฟอร์โมซา และ อิเรียนตะวันตกของอินโดนีเซีย
พื้นที่ภูมิภาคย่อยนี้จึงประกอบไปด้วยพื้นที่เกาะต่างๆ นับพันๆ เกาะที่แวดล้อมผืนแผ่นดินใหญ่ โดยกระจายอยู่ทั้งในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ปัจจุบันแบ่งเป็นพื้นที่ของหลายประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง (จีน) และไต้หวัน
ข้อมูลทางด้านวัฒนธรรมในสมัยปัจจุบัน บ่งชี้ว่าภูมิภาคที่มีวัฒนธรรมแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีขอบเขตด้านเหนืออยู่แถบตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ในประเทศจีน ส่วนขอบเขตทางด้านตะวันตกอยู่แถบแคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย
นักวิชาการในปัจจุบัน เห็นพ้องต้องกันว่าประชาชนและวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะเฉพาะตัวของภูมิภาค ซึ่งแตกต่างไปจากประชากรและวัฒนธรรมของดินแดนอื่นๆ ของโลก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่มีลักษณะเฉพาะแบบซึ่งไม่พบในดินแดนอื่นๆ
เมื่ออ่านจบถึงย่อหน้าสุดท้ายนี้ ผมตื่นเต้นที่เพิ่งรู้จากเอกสารของ อ. สุรพล ว่าไต้หวันก็นับเนื่องในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ด้วย
จึงเพิ่งเข้าใจการกระจายของกลองทัดที่พวกฮั่นเรียก “กลองของพวกเหี้ยทางทิศใต้” (เพราะไม่เป็นฮั่น เลยถูกเรียกเป็นเหี้ย) ว่าไปไกลถึงไต้หวัน, ญี่ปุ่น
อุษาคเนย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สุจิตต์ วงษ์เทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น