วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

กว่าจะเป็นคนไทย

ไทย หรือ คนไทย แรกมีขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1700 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลางตอนล่าง ก่อนหน้านั้นไม่เรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย
กว่าจะเป็นคนไทย มีพัฒนาการหลายพันปี ดังนี้
1. คนพูดภาษาไทยจำนวนมาก (ยังไม่เรียกตัวเองว่า คนไทย) มีหลักแหล่งอยู่ดินแดนในหุบเขาทางเหนือๆ ขึ้นไป ได้แก่ ภาคเหนือของพม่า, ไทย, ลาว, เวียดนาม และภาคใต้ของจีน (เดิมไม่ใช่ของจีน แต่ถูกเรียกจากฮั่นว่าพวกป่าเถื่อน มีสังคมวัฒนธรรมร่วมกับอุษาคเนย์ ถือเป็นพวกเดียวกับอุษาคเนย์)
บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง เป็นหลักแหล่งของคนหลายเผ่าพันธุ์ แต่หนาแน่นด้วยตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู ฯลฯ
2. คนพูดภาษาไทยและพูดภาษาอื่น มีความเคลื่อนไหวทยอยโยกย้ายไปมาจากดินแดนในหุบเขาทางตะวันออก (ของลุ่มน้ำโขง) ลงสู่ที่ราบลุ่มน้ำต่างๆ ตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้ว
เพราะบริเวณลุ่มน้ำโขงมีโลหะสำคัญ คือทองแดง ฯลฯ และบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเส้นทางติดต่ออ่าวไทยและทะเลอันดามัน เอื้อต่อการค้าทางทะเล
3. ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า บนเส้นทางการค้าดินแดนภายใน ผลักดันให้มีคนไทย
ราวหลัง พ.ศ. 1500 การค้าทางทะเลกับจีน และการค้าโลก ดึงดูดคนพูดภาษาไทยที่อยู่หุบเขาภายใน โยกย้ายทรัพยากรเป็นสินค้าลงมาให้รัฐชายฝั่ง เช่น อโยธยา-ละโว้, สุพรรณภูมิ ฯลฯ แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นกำลังพลและแรงงานปะปนผสมผสานทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์กับพวกมอญ-เขมร, ชวา-มลายู (ที่อยู่มาก่อน)
ราวหลัง พ.ศ. 1700 สมมุติชื่อเรียกตัวเองว่า คนไทย เมื่อมีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองมากกว่าเดิม แล้วใช้อักษรเขมร (เขียนภาษาไทย) กระทั่งมีวิวัฒนาการเป็นอักษรไทย
ลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มเจ้าพระยา
คนไทยกลุ่มหนึ่งในพระนคร บอกคนอื่นว่าพวกตนเป็น ไทยน้อย เมื่อราวเรือน พ.ศ. 2000 สอดคล้องกับหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา รวมทั้งตำนานนิทานเรื่องขุนบรม ว่าเชื้อสายแถนจากเมืองแถน (เวียดนาม) และเมืองหลวงพระบาง (ลาว) โยกย้ายมาตั้งหลักแหล่งบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ไทยน้อย หมายถึง คนในวัฒนธรรมลาว ตั้งแต่บริเวณลุ่มน้ำโขงไปทางทิศตะวันออกถึงเวียดนาม ฯลฯ
[คู่กันกับ ไทยใหญ่ หมายถึง คนในวัฒนธรรมลาว ตั้งแต่บริเวณลุ่มน้ำสาละวินไปทางทิศตะวันตก ในพม่า (สาละวิน เป็นภาษาพม่า ส่วนไทย-ลาว เรียก แม่น้ำคง หรือ น้ำแม่คง)]
ทั้งหมดที่แสดงหลักฐานมานี้ เท่ากับยืนยันว่าคนไทยเป็นลูกผสมร้อยพ่อพันแม่อยู่ที่นี่ ที่สุวรรณภูมิ ในอุษาคเนย์ (อาเซียน)

Matichon .co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น