วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

อุบลราชธานีปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





       มูลเหตุการณ์ปฏิรูป พ.ศ.๒๓๓๕ อุบลราชธานีเป็นเมืองประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงปลายแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเมืองอุบลราชธานีมีความสงบร่มเย็นมาโดยตลอด  จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานการณ์ของโลกเกิดวิกฤตทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ชาติมหาอำนาจตะวันตกคุกคามประเทศเล็กที่ด้อยพัฒนา ยึดครองเป็นอาณานิคมเพื่อให้เป็นตลาดการค้า ขยายอิทธิพลทั้งศาสนา การเมือง การปกครอง ตลอดจนยึดทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบนำไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศตน ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มหาอำนาจตะวันตกได้เข้ามาดำเนินการโดยฝรั่งเศสทำสงครามยึดประเทศญวนก่อนแล้วขยายอำนาจเข้ามาในเขตอิทธิพลของไทย เข้ายึดเมืองตะโปน ผาบัง วังคำ ตลอดจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๔ ฝรั่งเศสอ้างว่าเมืองเหล่านี้เป็นเมืองขึ้นของญวน นอกจากนั้นยังได้ปฏิบัติการในทำนองเดียวกันนี้อีกหลายแห่งและหลายครั้ง ทำให้ไทยได้รับความเดือดร้อนในเวลาต่อมา
การปฏิรูปการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่๕ ทรงดำเนินการปกป้องบ้านเมืองมิให้ฝรั่งเศสหรือมหาอำนาจอื่นรุกรานประเทศ ทำให้เกิดโครงการปฏิรูปการปกครอง ทรงเริ่ม     พระราชกรณียกิจในการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ.๒๔๓๑ โดยทรงเริ่มจัดระเบียบการปกครองส่วนกลางก่อน แล้วจึงทรงจัดราชการในหัวเมืองตามลำดับคือ
พ.ศ.๒๔๓๓ จัดแบ่งหัวเมืองทางฝ่ายอีสานเป็น ๔ กองใหญ่ รวมหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวาเข้าด้วยกัน แต่ละกองมีข้าหลวงกำกับการปกครองกองละ ๑ คน มีข้าหลวงใหญ่คอยกำกับดูแลข้าหลวงกำกับกองละ ๑ คน ผู้ที่มีพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นข้าหลวงใหญ่ คือ พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ)อยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ ส่วนกองต่างๆได้แก่
กองที่ ๑ คือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก ประกอบด้วยหัวเมืองเอก ๑๑ หัวเมือง หัวเมืองโท ตรี จัตวา อีก ๒๖ หัวเมือง รวมเป็น ๓๗ หัวเมือง มีพระพิษณุเทพ (ช่วง) เป็นข้าหลวงประจำกองอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ หัวเมืองเอก ได้แก่ นครจำปาศักดิ์ เชียงแตงแสนปาง สีทันดร อัตปือ สารวัน คำทองใหญ่ สุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ และเดชอุดม
กองที่ ๒ คือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยหัวเมืองเอก ๑๒ หัวเมือง หัวเมืองโท ตรี จัตวา อีก ๒๙ หัวเมือง รวมเป็น ๔๑ หัวเมือง มีพระยาราชเสนา (ทัด ไกรฤกษ์) เป็นข้าหลวงประจำกอง ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี หัวเมืองเอก ได้แก่ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์  มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภูหล่นช้าง กมลาสัย เขมราฐ สองคอน แดนดง ยโสธร นอง และศรีสะเกษ
กองที่ ๓ คือ หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ประกอบด้วยหัวเมืองเอก ๑๖ หัวเมือง หัวเมืองโท ตรี จัตวา อีก ๓๖ หัวเมือง รวมเป็น ๔๒ หัวเมือง มีพระยาอนุชิตปริหาร (จันทร์) เป็นข้าหลวงประจำกอง ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่หนองคาย หัวเมืองเอก ได้แก่ หนองคาย เชียงขวาง บริคัณฑนิคม โพนพิสัย ชัยบุรี ท่าอุเทน นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กมลาสัย บุรีรัมย์ หนองหาร ขอนแก่น คำเกิด คำหม่วน และหล่มสัก

กองที่ ๔ คือ หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง ประกอบด้วยหัวเมืองเอก ๓ หัวเมือง หัวเมืองโท ตรี จัตวา อีก ๑๖ หัวเมือง รวมเป็น ๑๙ หัวเมือง มีพระพิเรนทรเทพ (ทองคำ สีหอุไร) เป็นข้าหลวงประจำกอง ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองนครราชสีมา หัวเมืองเอก ได้แก่ นครราชสีมา ชนบท และภูเขียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น