วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

การบายศรีสู่ขวัญ








ความเป็นมา    
การสู่ขวัญ หรือ สูตขวัญ ของชาวอีสาน คงได้รับอิทธิพลมาจากพิธีพราหมณ์ เพราะบรรพบุรุษเคยนับถือทั้งพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ การสู่ขวัญเป็นเรื่องเกี่ยวกับขวัญและจิตใจ เพื่อหาทางก่อให้เกิดขวัญหรือกำลังใจดีขึ้น ชาวอีสานเห็นความสำคัญทางจิตใจมาก ดังนั้น วิถีการดำเนินชีวิตแทบทุกอย่างจึงมักจะมีการเรียกร้องพลังทางจิต จะได้ช่วยให้มีพลังใจเข็มแข็ง สามารถฟันฝ่าอุปสรรคหรือภัยพิบัติได้นั้นเอง จึงเป็นประเพณีถือปฏิบัติยั่งยืนมาจนสมัยนี้
พิธีบายศรีสู่ขวัญ ยังไม่มีผู้ใดยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมาอย่างไร ผู้ที่ทำขวัญหรือที่เรียกว่าหมอขวัญ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเริ่มมีการทำขวัญตั้งแต่เมื่อใด เพียงแต่สันนิษฐานว่าเห็นจะมีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยความเชื่อของคนไทยเชื่อกันว่าบรรดาคนทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีธรรมชาติอย่างหนึ่งเรียกกันว่า ขวัญ จะมีประจำกายของทุกคน มีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษา ขวัญเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่คอยดูแลประคับประคอง
ชีวิต ติดตามเจ้าของไปทุกหนทุกแห่ง

ความหมายบางคำเกี่ยวกับพิธีบายศรีสู่ขวัญ
            ในการศึกษาเกี่ยวกับการบายศรีสู่ขวัญ ข้าพเจ้าเห็นว่า มีคำหลายๆคำที่ควรทราบเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ ดังนี้
คำว่า "ขวัญ" เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างหน้าตาปรากฏให้เห็น ไม่สามารถจับต้องหรือสัมผัสได้ แต่จะสังเกตได้ด้วยความรู้สึก ถ้าขวัญของผู้ใดอยู่กับตัวผู้นั้นจะมีความสุขกายสบายใจเป็นปรกติ แต่ถ้าขวัญของผู้ใดหลบลี้หนีหายผู้นั้นจะมีลักษณะอาการตรงกันข้าม พิธีบายศรีสู่ขวัญที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันนี้ คนไทยเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมเพิ่มพลังใจให้เข้มแข็ง เมื่อมีขวัญที่มั่นคงพลังใจที่เข้มแข็งดีแล้ว ย่อมส่งผลให้การประกอบภารกิจหน้าที่นั้น ๆ บรรลุผลสำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย
คำว่า ขวัญ นั้นเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายกับจิตหรือวิญญาณแฝง อยู่ในตัวคนและสัตว์ ตั้งแต่เกิดมาทุกคนมีขวัญกันทั้งนั้นและในบางแห่งเรามักแปลว่า กำลังใจ ก็มีคำว่า ขวัญ ยังมีความหมายอีกว่าเป็นที่รักที่บูชา เช่นเรียกเมียที่รักว่า เมียขวัญ หรือ จอมขวัญ เรียกลูกรักหรือลูกแก้วว่า ลูกขวัญ สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือกันนำมาฝาก นำมาให้เพื่อเป็นการทะนุ ถนอมน้ำใจกันเราก็เรียกว่า ของขวัญ”        
ขวัญ อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ขน หรือผม ที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย
              “ขวัญ เป็นสิ่งที่มีอยู่กับคนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น คนที่ตายไปแล้วจะไม่มีการกล่าวเรียกขวัญ
             คำว่า พาขวัญ เป็นภาษาอีสาน มีความหมายเช่นเดียวกับ พานบายศรี มีการแต่งพาขวัญพร้อมเครื่องสังเวยต่างๆ เหมือนกัน
คำว่า บายศรี ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า ภาชนะใส่เครื่องสังเวยในพิธีทำขวัญ หรือ สู่ขวัญ จัดตกแต่งให้สวยงาม เป็นพิเศษด้วยใบตอง และดอกไม้สด มีข้าว ขนม ข้าวต้มเป็นเครื่องประกอบอันสำคัญ การทำพิธีเรียกขวัญ จึงเรียกว่า บายศรีสู่ขวัญ
           ความหมายของ บายศรี นั้น สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพล มาจาก ลัทธิพราหมณ์ ซึ่งเข้ามา ทางเขมร ทั้งนี้เพราะ คำว่า บาย ภาษาเขมร แปลว่า ข้าวสุก ภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า จับต้อง สัมผัส ส่วนคำว่า ศรี มาจากภาษาสันสกฤต ตรงกับ ภาษาบาลีว่า     สิริ แปลว่า มิ่งขวัญ ดังนั้นคำว่า บายศรี น่าจะแปลได้ว่า ข้าวขวัญ หรือ สิ่งที่น่าสัมผัส กับความดีงาม บายศรี ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า ข้าวอันเป็นสิริ, ขวัญข้าว หรือ ภาชนะใส่เครื่องสังเวยและพิธีทำขวัญต่างๆ
สมัยโบราณ มีการเรียกพิธี สู่ขวัญว่า บาศรี ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเป็นพิธีสำหรับบุคคล ชั้นเจ้านาย เพราะคำว่า บา เป็นภาษาโบราณ อีสานใช้เป็น คำนำหน้า เรียกเจ้านาย เช่น บาท้าว บาบ่าว บาคราญ เป็นต้น ส่วนคำว่า ศรี หมายถึง ผู้หญิงและ สิ่งที่เป็นสิริมงคล บาศรี จึงหมายถึง การทำพิธีที่ เป็นสิริมงคล แต่ปัจจุบันนี้ คำว่า บาศรี ไม่ค่อยนิยมเรียกกันแล้ว มักนิยมเรียกว่า บายศรี 
      

ความสำคัญของ การบายศรี         
 “ การบายศรี ทีทั้งศิลปะและวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวอีสาน แต่ครั้งโบราณกาล เป็นประเพณีอันดีงามสืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน
          การบายศรีสู่ขวัญ เป็นกุศโลบายให้คนมีน้ำจิตน้ำใจอันใสบริสุทธิ์แสดงมุทิตาจิตต่อกัน เพื่อรวมจิตรวมใจให้แก่ผู้ที่จะ สู่ขวัญ อันเป็นที่รัก เคารพ นับถือ ศรัทธาและบูชาสูงสุด เช่น ชาวอุบลฯ รวมน้ำใจ ถวายขวัญผูกข้อพระกร เป็นการ เฉลิมพระขวัญ ล้นเกล้า ทั้งสองพระองค์ ที่วัดสุปัฎนารามวรวิหาร เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2498 เป็นศุภวาระครบ 50 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานี 
         

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีกรรมในการรับขวัญแก่ผู้ที่โชคดีหรือเป็นการลดความโชคร้ายในเหตุที่ไม่ดีให้เบาบางลง ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังใจในการดำรงชีวิต เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังมีการบายศรีสู่ขวัญในพิธีสำคัญต่างๆ และในกิจต่างๆ ที่ไม่ได้มุ่งหมายของการเสริมสร้างกำลังใจแต่เป็นการตอบแทนบุญคุณ เช่น การบายศรีข้าว การบายศรีควาย เป็นต้น ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเรื่องพิธีกรรมการบายศรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น