วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559

จากภูมิปัญญาชุมชน สู่ ชุมชนพอเพียงบ้านหนองคู

กระติบข้าวจากต้นไหล และ ผลิตภัณฑ์จากต้นไหล


หัตถกรรมเครื่องจักสานเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต
ตั้งแต่อดีตตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน หัตถกรรมเครื่องจักสานเป็น
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาอันเฉลียวฉลาดของคนในท้องถิ่น ที่ใช้ภูมิปัญญาสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาประยุกต์ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีประโยชน์ในการดำรงชีวิต 
จะเห็นได้ว่าหัตถกรรมเครื่องจักสานมีมานานแล้วและได้มีการพัฒนามาตลอดเวลาโดยอาศัยการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง การดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เอาการรู้หนังสือมาเกี่ยวข้อง การเรียนรู้ต่างๆ อาศัยวิธีการฝึกหัดและบอกเล่าซึ่งไม่เป็นระบบในการบันทึก สะท้อนให้เห็นการเรียนรู้ ความรู้ที่สะสมที่สืบทอดกันมาจากอดีตมาถึงปัจจุบันหรือที่เรียกกันว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นกระบวนถ่ายทอดความรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทำภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นคงอยู่ต่อเนื่องและยั่งยืน
   

เนื่องจากบ้านหนองคู หมู่ ๔ ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีลำห้วยซอม และ ห้วยกอก ประกอบกับใกล้กับหนองคู เมื่อถึงฤดูฝน มีน้ำหลาก น้ำท่วมที่นาของชาวบ้านทำให้ข้าวในทุ่งนาเฉาและตายในที่สุด จึงเป็นผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านหนองคู อนึ่ง วัชพืช  พืชพันธุ์ที่เกิดตามธรรมชาติส่วนมากเป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  เช่น ต้นกก ต้นไหล ต้นผือ ต้นเตย และประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำให้การทำไร่ ทำนา ทำสวน มีปัญหาด้วยเรื่องวัชพืชอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบให้ผลิตผลทางการเกษตรไม่ได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น

          จากปัญหาด้านวัชพืช ดังกล่าว สมาชิกชุมชนจึงได้มีการประชุมหารือเพื่อหาทางแก้ไข และจากคำกล่าวขานและบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของหมู่บ้านได้พบว่า ต้นกก ต้นไหล ต้นผือ ต้นเตย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายตามแต่โบราณกาล เช่น นำมาถักทอเป็นเสื่อ เป็นต้น
          ดังนั้น กลุ่มแม่บ้าน บ้านหนองคู จึงอาศัยเวลาว่างจากงานประจำ ได้มาเรียนรู้การทำเสื่อลายหมากฮอตจากผู้เฒ่าผู้แก่ จนสามารถทอเสื่อได้ตามแบบแผนตั้งแต่ครั้นโบราณกาลได้อย่างประณีต เพื่อใช้ในครัวเรือนของตน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเสื่อน้ำมัน หรือเสื่อจากองค์กรชุมชนอื่นๆ ได้

ในปี ๒๕๔๔ จึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งกลุ่มเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้สามารถใช้ในครัวเรือนได้อย่างหลากหลาย หากมากพอก็สามารถจำหน่ายได้ในระดับท้องถิ่น จากนั้นได้ลองเอาต้นไหลมาแปรรูปผลิตภัณฑ์เดิมจากการทอเสื่อมาทำเป็นกระติบข้าว ปรากฏว่า กระติบข้าวจากต้นไหล สามารถเก็บข้าวเหนียวได้ดี ข้าวเหนียวไม่ติดกระติบข้าวเหมือนดั่งเช่น กระติบข้าวที่ทำมาจากไม้ไผ่

ในปี ๒๕๔๗ กศน.อำเภอน้ำยืน โดยมี นายเต็ม เจตินัย เป็นผู้บริหารในสมัยนั้น ได้มอบให้ นายกณวรรธน์ สุทธัง ครู กศน.อำเภอน้ำยืน นำสมาชิกแม่บ้านจักสานบ้านหนองคู หมู่ ๔ ตำบลยาง โดยมีนางเวิน บุตรแสง ประธานกลุ่มฯ และ สมาชิกกลุ่มจักสานบ้านสงวนรัตน์ หมู่ ๖ ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนางสาวอุไลวัน พันธ์วงศ์ ประธานกลุ่มฯ  ไปศึกษาดูงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัสดุ ที่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นกระติบข้าว หมวก ที่รองแก้ว กล่องกระดาษทิชชู กระเป๋าถือ และอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในครอบครัวและเพื่อจำหน่ายแก่สมาชิกและผู้สนใจทั่วไปในเขตอำเภอน้ำยืน และผู้สนใจในจังหวัดอื่น ๆ

จากผลการดำเนินดำเนินงานของกลุ่มฯ เป็นผลทำให้ กลุ่มจักสานบ้านหนองคู หมู่ ๔ ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี  ได้ผ่านการคัดสรรผลิตภัณฑ์ จากโครงการ คัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย  (OTOP Product Champion) ดังนี้
๑.      ปี ๒๕๔๗ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับ ๓ ดาว ประเภท ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก กระติ๊บข้าว
๒.      ปี ๒๕๕๓ ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับ ๓ ดาว ประเภท ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก กระติ๊บข้าวจากต้นไหล
๓.      ปี ๒๕๕๔ นางเวิน บุตรแสง ประธานกลุ่มฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภท ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก (ตะกร้าเอนกประสงค์) โครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จาก ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายสุรพล  สายพันธ์)

๔.      ปี ๒๕๕๕ ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับ ๓ ดาว ประเภท ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก กระติ๊บข้าวจากต้นไหล และ ผลิตภัณฑ์จากต้นไหล
๕.     บ้านหนองคู ได้ผ่านการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับ อยู่ดี กินดี
๖.      นางเวิน บุตรแสง ได้รับคัดเลือกให้เป็น คุณแม่ดีเด่นระดับตำบล ของตำบลยาง อำเภอน้ำยืน
๗.      นางเวิน บุตรแสง ได้รับคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขพื้นฐาน (อสม.) และ ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ อสม.ดีเด่น
๘. นายประเสริฐ  บุตรแสง (สามี) ได้รับคัดเลือกให้เป็น ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองคู

 
เกียรติบัตร ชุมชน




เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ นางเวิน บุตรแสง 






นายประเสริฐ บุตรแสง 



"อ่านให้จำ ทำให้ดู"
แนวคิดในการปฏิบัติตนในวิถีชีวิตเพื่อการพัฒนาชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น